ประวัติ
- พ.ศ. 2475 มีคณะบาทหลวงโรมันคาทอลิก ขึ้นมาเผยแพร่ศาสนาคาทอลิกที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีการสร้างโบสถ์พระหฤทัย ขึ้น ณ ตำบลช้างคลาน ถนนเจริญประเทศ ริมฝั่งแม่น้ำปิงด้านทิศตะวันตก (อันเป็นสถานที่ตั้งของโรงเรียนพระหฤทัยในปัจจุบัน) ซึ่งเริ่มต้นด้วยนักเรียนจำนวน 40 คน เก็บค่าเล่าเรียนเดือนละ 2 สลึง ขณะนั้นพระคุณเจ้าเรอเน แปร์รอส ประมุขเขตมิสซังกรุงเทพฯ เห็นว่าลูกหลานของผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์สมัยนั้นส่วนมาก เป็นผู้มีฐานะค่อนข้างยากจน จึงได้ขออนุญาตจัดตั้งโรงเรียนขึ้นในบริเวณโบสถ์พระหฤทัย
- 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2475 โดยให้ชื่อว่า “ โรงเรียนพระหฤทัย” มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Sacred Heart College โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เด็ก ๆ ที่ยากจนได้มีโอกาสเข้ารับการศึกษา โดยมีบาทหลวงมีราแบลเป็นผู้จัดการและครูใหญ่ ในชั้นแรกที่เปิดทำการสอนมีนักเรียนชาย-หญิง 40 คน เก็บค่าเล่าเรียนคนละ 2 สลึงต่อเดือน
- พ.ศ. 2542 โรงเรียนได้รับการรับรองคุณภาพมาตรฐานสากล ISO 9002 ทั้งองค์กร ในขอบเขตระดับก่อนประถมศึกษา ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา จากบริษัท BUREAU VERITUS QUALITY INTERNATIONAL (BVQI) จากประเทศอังกฤษ
- 29 มิถุนายน พ.ศ. 2542 ได้รับการรับรองมาตรฐานคุณภาพการศึกษาจากสำนักงานการศึกษาเอกชน เป็นเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปีการศึกษา 2542 – 2546
- 29 กันยายน พ.ศ. 2542 ได้รับรางวัลจากกลุ่มโรงเรียนมัธยมศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ ปีการศึกษา 2541 จำนวน 3 รางวัล คือ รางวัลสถานศึกษาที่จัดกิจกรรม จริยธรรมระดับยอดเยี่ยมและรางวัลผู้บริหารสถานศึกษาที่จัดกิจกรรมจริยธรรม ระดับยอดเยี่ยม ได้รับการคัดเลือกให้เป็นโรงเรียนรางวัลพระราชทานระดับมัธยมศึกษาตอนต้นขนาด กลาง ได้รับประกาศนียบัตรโรงเรียนสะอาดตามมาตรฐานจากหน่วยงานสาธารณสุข และสิ่งแวดล้อมของเทศบาลนครเชียงใหม่
- พ.ศ. 2543 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีพระราชทานรางวัลโรงเรียนพระราชทานระดับมัธยมศึกษาขนาดกลางแก่โรงเรียนพระหฤทัย อีกทั้งยังได้รับการรับรองมาตรฐานคุณภาพการศึกษา ระดับก่อนประถมศึกษา ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน
- พ.ศ. 2552 โรงเรียนพระหฤทัย เชียงใหม่ มีการเปลี่ยนแปลงเป็นโรงเรียนสหศึกษา
ความเป็นมา
ด้วยเจตนารมณ์อันแน่วแน่และแรงกล้าของ พระสังฆราช เรอเน แปร์รอส ประมุขมิสซังสยามในขณะนั้น และธรรมทูตสองท่านได้แก่ คุณพ่อ ยอร์ช มิราแบล พระสงฆ์ชาวฝรั่งเศสคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส ( M.E.P.) และคุณพ่อ นิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง พระสงฆ์พื้นเมืองธรรมทูตคนไทยคนแรกที่เป็นสัตบุรุษวัดนักบุญเปโตร ( นครชัยศรี ) อ.สามพราน จ.นครปฐม ( ต่อมาได้รับการสถาปนาเป็นบุญราศี พระสงฆ์ และมรณสักขี โดยพระสันตะปาปา จอห์นปอลที่ ๒ ) ธรรมทูตทั้งสองได้รับมอบหมายงานที่ยิ่งใหญ่ จากพระสังฆราช เรอเน แปร์รอส ให้เดินทางขึ้นมาเผยแพร่ศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกในดินแดนล้านนา ซึ่งในขณะนั้น ปกครองโดยเจ้าแก้วนวรัฐเจ้าหลวงองค์ที่ 9 ของเชียงใหม่ และตรงกับสมัยของสมเด็จพระสันตะปาปา ปิอุสที่ 11 ธรรมทูตทั้งสองเต็มเปี่ยมไปด้วยความกระตือรือร้นที่จะปฏิบัติภารกิจในครั้งนี้อย่างมาก อีกทั้งยังมีวิสัยทัศน์กว้างไกลและมองเห็นความสำคัญของการศึกษาตามแบบอย่างของชาวตะวันตกที่ทันสมัย และเจริญก้าวหน้า โดยท่านทั้งสองเดินทางมาถึงเชียงใหม่เมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๔ พร้อมกับได้สำรวจพื้นที่และสังเกตเห็นการดำเนินงานของพี่น้องศาสนาคริสต์นิกายโปรแตสแตนท์ซึ่งเป็น มิสชันนารีชาวอเมริกันในยุคบุกเบิกที่ได้ดำเนินงานเผยแพร่ธรรมควบคู่ไปกับการให้การศึกษาในขณะนั้น ธรรมทูตทั้งสองได้เขียนรายงานเรื่องความเหมาะสมในการจัดตั้งศูนย์แพร่ธรรมในเขตภาคเหนือโดยระบุในตอนท้ายของรายงานว่า “ผู้ได้รับมอบหมายงานแพร่ธรรมรู้สึกชื่นชอบการเดินทางไปสำรวจข้อมูล และมีความเห็นว่าไม่ควรล่าช้าอีกต่อไป ในการทดลองประกาศพระวรสารทางเขตภาคเหนือ” รายงานฉบับนี้ได้ส่งมอบให้พระสังฆราช เรอเน แปร์รอส ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่พระสังฆราชจะเดินทางไปประชุมใหญ่ของคณะที่ประเทศฝรั่งเศสพอดี เพื่อจะได้นำรายงานฉบับนี้ไปมอบให้พระสังฆราช เกย์ บริอังต์ ได้รับทราบ นับว่าเป็นพระพรของพระเจ้าที่หลังจากที่ท่านพระคุณเจ้าได้อ่านรายงานของธรรมทูตทั้งสองพร้อมกับมีความรู้สึกชื่นชมยินดีในความมุ่งมั่นที่จะประกาศพระวรสารในภาคเหนือของประเทศสยาม และท่านยังได้ให้คำรับรองและสัญญาว่าจะให้การสนับสนุนด้านการเงินในการเผยแพร่ธรรมในครั้งนี้อย่างเต็มที่
หลังจากพระคุณเจ้าเดินทางกลับมาจากประเทศฝรั่งเศสจึงดำเนินการจัดซื้อที่ดินที่เชียงใหม่จำนวน ๒ แปลงมีบ้านหลังใหญ่สภาพดีอีก ๒ หลัง ติดกับแม่น้ำปิง โดยตั้งอยู่ทางทิศใต้ของตัวเมืองเชียงใหม่ (ปัจจุบันคือพื้นที่วัดพระหฤทัย และโรงเรียนมงฟอร์ตแผนกประถม) โดยแบ่งเป็นบ้านพักคุณพ่อหนึ่งหลัง และบ้านพักภคินีพื้นเมืองคณะพระหฤทัยแห่งกรุงเทพ ฯ อีกหนึ่งหลัง ทั้งสองแปลงมีเนื้อที่รวมกันทั้งหมด ๗๒ไร่ ราคา ๘,๐๐๐ บาท ระหว่างที่กำลังรอการสนับสนุนที่คาดว่าจะได้รับในไม่ช้า พระคุณเจ้า แปร์รอส จำเป็นต้องกู้ยืมเงินจำนวน ๑๒,๕๐๐ บาท ในการซื้อที่ดินทั้งสองแปลงและปรับปรุงพื้นที่ในการสร้างวัดและโรงเรียน (ปัจจุบันเป็นเนื้อที่ใช้ในกิจการโรงเรียนจำนวน ๙ไร่ ๒๗ ตารางวา เป็นส่วนของวัดพระหฤทัยจำนวน ๓ไร่ ๑๒ ตารางวา ส่วนหนึ่งมอบให้คณะภราดาเซนต์คาเบลียลสำหรับสร้างโรงเรียนมงฟอร์ตจำนวน ๑๒ ไร่ ๑ งาน ๒๗ ตารางวา และส่วนที่เหลือจำนวน ๔๗ ไร่๑ งาน ๙๕ ตารางวา ใช้เป็นที่ประกอบกิจทางศาสนา ) หลังจากนั้นก็ดำเนินการเรื่องการสร้างวัดและโรงเรียนเพื่อใช้ทันเปิดเรียนในเดือนพฤษภาคม
ในวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๔ ก่อนเดินทางมาเชียงใหม่ พระคุณเจ้า เรอเน แปร์รอส และคุณพ่อ ยอร์จ มิราแบล ได้ไปเยี่ยมซิสเตอร์ เบอร์นาร์ด มังแซล ขณะนั้นเป็นท่านอธิการิณีโรงเรียนมาแตร์เดอีที่กรุงเทพ ฯ เพื่อชักชวนให้คณะอุร์สุลินมาเปิดโรงเรียนสำหรับนักเรียนผู้หญิง โดยซิสเตอร์เบอร์นาร์ดมีความสนใจและเห็นด้วยกับการเปิดโรงเรียนที่เชียงใหม่จึงได้จึงเขียนจดหมายไปปรึกษาซิสเตอร์ แซงต์จัง มาร์แตง มหาอธิการิณี เจ้าคณะที่กรุงโรม แม้ในขณะนั้นทางคณะจะประสบปัญหาด้านการเงิน แต่ทางกรุงโรมก็อนุมัติให้เปิดโรงเรียนได้ ซึ่งความต้องการของเหล่าธรรมทูตมิได้มองเฉพาะเพียงแต่โรงเรียนผู้หญิงเท่านั้น ท่านยังได้ชักชวนคณะภราดาเซนต์คาเบรียลมาเปิดโรงเรียนชายอีกแห่ง เพื่อต้องการจะทำให้เมืองเชียงใหม่กลายเป็นศูนย์กลางการศึกษาที่ทันสมัย และจะได้ดำเนินงานแพร่ธรรมควบคู่กันไปด้วย ท่านคาดการณ์ไว้ว่าจะทำการเปิดโรงเรียนทั้งสองแห่งให้พร้อมกันในวันที่ ๑๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ โดยมีเวลาเตรียมความพร้อมไม่ว่าจะเป็นด้านอาคารสถานที่ ด้านอุปกรณ์การเรียนการสอน และงานด้านบุคลากร เพื่อให้ทันกับช่วงเวลาที่จะเปิดทำการสอนอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
การมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล และมองเห็นความสำคัญด้านการศึกษา โดยเฉพาะเรื่องความเท่าเทียมกันของเด็กและเยาวชนที่นับถือคริสต์ศาสนาที่มีฐานะค่อนข้างยากจน และเด็กกำพร้า ท่านจึงเล็งเห็นว่าการศึกษาจะสามารถช่วยพัฒนาความเป็นอยู่ของชาวบ้านให้ดีขึ้นโดยเฉพาะบุตรหลานของสัตบุรุษ คุณพ่อ ยอร์ช มิราแบล และ คุณพ่อ นิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง จึงได้เปิดโรงเรียนของวัดขึ้นมาอีกแห่งหนึ่งเพื่อรับทั้งเด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิง โดยใช้ชื่อว่า “โรงเรียนพระหฤทัย” มีชื่อภาษาอังกฤษว่า “SACRED HEART COLLEGE” อันมีความหมายถึงดวงฤทัยที่ศักดิ์สิทธิ์ขององค์พระเยซูคริสตเจ้า และเป็นชื่อเดียวกันกับวัดพระหฤทัย (ต่อมาได้ยกฐานะเป็นอาสนวิหารพระหฤทัย) โดยมี พระสังฆราชเรอเน แปร์อส เป็นผู้จัดการ คุณพ่อ ยอร์ช มิราแบล เป็นครูใหญ่คนแรก ส่วนครูผู้สอนคือซิสเตอร์คณะพระหฤทัยแห่งกรุงเทพ ฯ จำนวน ๒ ท่าน ที่ได้รับมอบหมายภารกิจจาก คุณแม่ เซราฟิน เดอ มารี ให้ติดตามธรรมทูตในการดำเนินงานในดินแดนล้านนาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๓ คือ ซิสเตอร์เวโรนีกา รัตนกิจ และ ซิสเตอร์ เอเฟรม กาดา เป็นครูผู้สอนนักเรียนหญิง ส่วนครูชายเป็นเณรของคณะพื้นเมืองจากบ้านเณรบางนกแขวกเพื่อมาช่วยสอนเด็กนักเรียนชาย เนื่องจากทางวัดและโรงเรียนยังยากจนมาก ไม่มีเงินที่จะใช้ดำเนินการ เช่นการว่าจ้างครูที่มีความรู้มาสอน ก็ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มที่ การเก็บค่าเล่าเรียนจากนักเรียนซึ่งเก็บกันเพียงเดือนละห้าสิบสตางค์ ก็ยังไม่สามารถจัดเก็บได้หมด ทั้งนี้เพราะเด็กส่วนใหญ่พ่อแม่มีฐานะยากจน และเด็กบางคนยังได้รับการยกเว้นเก็บค่าเล่าเรียนเพราะเป็นเด็กกำพร้าวัดและโรงเรียนจึงรับอุปการะในเรื่องค่าใช้จ่าย โรงเรียนทั้ง ๓ แห่งได้เปิดทำการสอนพร้อมกันในวันที่ ๑๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ มีนักเรียนรวมกันจำนวน ๒๘๑ คน แบ่งเป็นนักเรียนโรงเรียนเรยีนาเชลีวิทยาลัยจำนวน ๙๖คน นักเรียนโรงเรียนพระหฤทัยจำนวน ๑๐๔ คน แบ่งเป็น ๒ แผนกด้วยกันคือ แผนกชายจำนวน ๓๕ คน แผนกหญิงจำนวน ๖๙ คน และโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย จำนวน ๘๑ คน แต่เนื่องจากโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย ยังไม่พร้อมเรื่องอาคารสถานที่เพราะกำลังดำเนินการก่อสร้างอาคารเรียน จึงได้อาศัยพื้นที่อาคารไม้ของโรงเรียนวัดพระฤทัยเป็นสถานที่เรียนชั่วคราว โดยแบ่งพื้นที่ห้องเรียนให้นักเรียนโรงเรียนมงฟอร์ตสามส่วน อีกหนึ่งส่วนเป็นของโรงเรียนพระหฤทัย (โรงเรียนมงฟอร์ตย้ายไปในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน โดยมีภาราดาซีเมออน ริโคลเป็นอธิการคนแรก และทำพิธีเปิดอาคารเรียนโดยพระสังฆราชดราเย Dreyer)
สามปีต่อมา เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๖ มีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นเมื่อคุณพ่อมิราแบล ได้ลาออกจากตำแหน่งครูใหญ่ เพื่อย้ายไปเข้าคณะฤาษี Carthusians ตามความตั้งใจเดิมที่ท่านเคยขออนุญาตกับผู้ใหญ่ของคณะ กอปรกับสถานการณ์การทางเมืองช่วงนั้นไม่ดีนักหลังจากมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในประเทศสยามโดยคณะราษฎร์ เนื่องจาก พระองค์เจ้า บวรเดช กฤดากร ก่อกบฏ รัฐบาลได้ประกาศกฎอัยการศึก โรงเรียนพระหฤทัยเกรงว่าหากให้ คุณพ่อ มิราแบล ซึ่งเป็นพระสงฆ์ชาวฝรั่งเศสดำรงตำแหน่งเป็นครูใหญ่ หน่วยงานราชการก็คงจะไม่สบายใจนัก เนื่องจากขณะนั้นคนสยามยังมีความเคียดแค้นต่อประเทศฝรั่งเศส อันเนื่องมาจากการใช้อำนาจยึดดินแดนบางส่วนของประเทศไปในอดีต กอปรกับการที่คุณพ่อตามวัดส่วนใหญ่เป็นชาวฝรั่งเศสทำให้ประชาชนส่วนใหญ่คิดรวมไปว่า ศาสนาศริสต์เป็นศาสนาของฝรั่งเศส จึงได้แต่งตั้งให้นายจันตา มโนวงค์ ดำรงตำแหน่งแทนพร้อมกับทำหน้าเป็นที่ครูผู้สอนไปไปด้วย จากนั้นได้มีการเปลี่ยนผู้ดำรงตำแหน่งครูใหญ่อีกหลายท่าน ส่วนมากจะเป็นคนไทยและเป็นฆราวาส ซึ่งทุกท่านล้วนเป็นกำลังสำคัญในการร่วมพัฒนาโรงเรียนให้เจริญก้าวหน้า ทั้งจำนวนนักเรียนและห้องเรียนมีการปรับเปลี่ยนเกือบทุกปี โรงเรียนได้เปิดทำการสอนตั้งแต่ชั้นมูล(อนุบาล)ถึงชั้นมัธยม มีนักเรียนชาย-หญิง รวมกันประมาณ ๒๐๐ คน การวัดผลในสมัยนั้นนักเรียนที่จะทำการสอบไล่ของโรงเรียนเอกชน โดยเฉพาะชั้นประโยค (ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓) ได้ไปสนามสอบร่วมกับโรงเรียนประชาบาลวัดศรีดอนไชยเป็นประจำทุกปี และนักเรียนของโรงเรียนพระหฤทัยก็ประสบความสำเร็จ โดยสามารถทำคะแนนสูงสุดในการสอบทุกครั้ง ในวันที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๙ พระสังฆราช เรอเน แปร์รอส ได้แต่งตั้ง คุณพ่อ เรอเน เมอร์นีเอร์ ซึ่งเป็นมิสชันนารีชาวฝรั่งเศสมาดำรงตำแหน่งผู้จัดการโรงเรียนเป็นเวลา ๔ ปี การบริหารโรงเรียนในช่วงนี้เริ่มประสบปัญหาเกี่ยวกับระเบียบกระทรวงศึกษาธิการที่เคร่งครัดออกระเบียบใหม่ทำให้การจัดการเรียนการสอนมีความยุ่งยากมาก ซึ่งรัฐบาลใหม่ให้โรงเรียนเอกชนที่บริหารโดยมิสชันนารีชาวต่างประเทศปฏิบัติตามกฏระเบียบของทางราชการที่มีการควบคุมเนื้อหาหลักสูตรรวมทั้งการจัดตารางสอนก็บังคับให้เพิ่มวิชาภาษาไทยมากขึ้นกว่าเดิม และให้ลดชั่วโมงวิชาภาษาอังกฤษ และวิชาภาษาฝรั่งเศสที่เป็นจุดเด่นของโรงเรียนนักบวชลง ดังนั้นทั้งสามโรงเรียนซึ่งเป็นโรงเรียนศาสนาคริสต์ จึงต้องปรับปรุงหลักสูตรใหม่และรับภาระในการจ้างครูสอนวิชาภาษาไทยเพิ่มขึ้น
เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๑ ประเทศสยามได้เปลี่ยนชื่อเป็นประเทศไทย ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อให้คนไทยโดดเด่นกว่าชนชาติอื่นในภูมิภาคนี้ นอกจากนั้นยังปลุกเร้าให้คนไทยมีความรู้สึกเป็นชาตินิยม มีการใช้วิทยุกระจายเสียงโฆษณาชวนเชื่อและควบคุมสิ่งพิมพ์ต่างๆ ที่จะเป็นปรปักษ์กับรัฐบาล และในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน คุณพ่อ มอริส การ์ตอง คณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส(M.E.P)ได้มารับตำแหน่งเป็นผู้จัดการโรงเรียนพระหฤทัย ลำดับที่ ๓ โดยมี ซิสเตอร์ซิสเตอร์ เวโรนีกา รัตนกิจ เป็นอธิการ และ ซิสเตอร์เอเฟรม กาดา เป็นผู้ช่วย เนื่องจากทางคณะพระหฤทัยยังขาดแคลนสมาชิกจึงขอให้ซิสเตอร์ทั้งสองอยู่ช่วยพระศาสนจักรที่วัดพระหฤทัยไปก่อน ประกอบบรรยากาศทางการเมืองในทวีปยุโรปได้เลวร้ายลง เมื่อกองทัพของเยอรมันภายใต้การนำของอด๊อฟ ฮิตเลอร์ ได้เปิดฉากบุกประเทศโปแลนด์แบบสายฟ้าแลบเป็นเหตุให้ประเทศอังกฤษและประเทศฝรั่งเศสประกาศสงครามกับเยอรมันในอีกวันต่อมา พร้อมกับกลุ่มประเทศที่เรียกว่ากลุ่มสัมพันธมิตร ส่วนประเทศอิตาลีและญี่ปุ่น ได้เข้าร่วมสงครามกับฝ่ายเยอรมันที่เรียกว่าฝ่ายอักษะ และนำไปสู่สงครามโลกครั้งที่สอง ราวกลางปีพุทธศักราช ๒๔๘๒
หลังจากเปิดภาคเรียนใหม่ปีการศึกษา ๒๔๘๒ ไม่นาน นายประสาท มโนวงค์ (นามเดิมนายจันทร์ตา มโนวงค์ ) ครูใหญ่ซึ่งเป็นฆราวาสคนแรกโดยเข้ามาทำงานในโรงเรียนเป็นเวลานาน มีความประสงฆ์จะขอลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงโดยให้เหตุผลว่าโรงเรียนพระหฤทัยส่วนใหญ่เป็นนักเรียนหญิง ครูใหญ่จึงควรเป็นผู้หญิงเพื่อง่ายต่อการปกครองดูแลนักเรียน นายประสาท มโนวงค์จึงได้ย้ายไปสอนที่โรงเรียนมงฟอรต์วิทยาลัย ส่วนสาเหตุที่แท้จริงคุณพ่อก็พอจะรู้ล่วงหน้ามาก่อนแล้วว่าคงจะถูกกดดันจากรัฐบาลและชุมชนในการมาบริหารโรงเรียนของศาสนาคริสต์ที่มีผู้บริหารเป็นชาวฝรั่งเศสประกอบกับบรรยากาศทางการเมืองของไทยกำลังคุกรุ่นสาเหตุมาจากรัฐบาลไทยได้เสนอให้รัฐบาลฝรั่งเศสปรับปรุงเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างไทยกับอินโดจีนใหม่ เพราะดินแดนไทยที่เสียไปในรัชกาลที่ ๕ ยังมีปัญหาปักหลักเขตแดนไม่เรียบร้อย แต่รัฐบาลฝรั่งเศสกับปฏิเสธข้อเสนอของไทยและไม่พอใจจนนำไปสู่การใช้กำลังในการตัดสินปัญหาที่เรียกว่า “กรณีพิพาทอินโดจีน หรือสงครามอินโดจีน ” ซึ่งก็ได้ยุติลงในปี ๒๔๘๔ โดยการไกล่เกลี่ยของประเทศญี่ปุ่น คณะพระหฤทัยได้แต่งตั้งให้ซิสเตอร์ส่าหรี เงินเล็ก ซึ่งเป็นซิสเตอร์คนแรกของคณะพระหฤทัยดำรงตำแหน่งครูใหญ่ เพื่อลดปัญหาความเข้าใจผิดของภาครัฐที่มองว่าโรงเรียนพระหฤทัยเป็นของต่างชาติ และเพื่อให้การดำเนินงานของโรงเรียนดำเนินต่อไปได้ท่ามกลางวิกฤติที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น โรงเรียนในเครือศาสนาคริสต์หลายโรงเรียนมีการโอนทรัยพ์สินให้กับนักบวชคนไทยเพื่อป้องกันการถูกยึดจากรัฐบาล คณะซิสเตอร์ที่เป็นคนไทยมีความเด็ดเดี่ยวและอดทนในเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นอย่างมากท่านได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจในการประคับประคองโรงเรียนให้อยู่รอด แต่เป็นที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่งหลังจาก ซิสเตอร์ปฏิบัติหน้าที่อย่างหนักทำให้สุขภาพร่างกายของท่านทรุดลงอย่างรวดเร็ว ซิสเตอร์ต้องเดินทางไปพบหมอบ่อย ๆ ในที่สุดทางคณะจึงมอบหมายงานที่พระหฤทัยให้ ซิสเตอร์ประภา เงินเล็ก ซึ่งมีบุคลิกคล้ายกับท่าน คือ รักและรับใช้ มาบริหารโรงเรียนแทน หลังจากได้บริหารงานเป็นเวลาสองปี เมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๔ จนถึง ปี พ.ศ. ๒๔๘๘ และมีการปรับเปลี่ยนครูใหญ่เป็นฆราวาสอีกครั้งคือครู สุนทร ชุมพานิช แต่ก็อยู่ได้ไม่นาน
คุณพ่อ มอริส การ์ตอง ลาออกจากตำแหน่งผู้จัดการเมื่อวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ และ คุณพ่อ บุญชู ระงับพิษ ซึ่งเป็นพระสงฆ์พื้นเมืองมาดำรงตำแหน่งแทน และในปีนี้เองทางโรงเรียนได้ขอ งดการเรียนการสอนสอนในระดับชั้นมัธยมศึกษา เพราะจำนวนนักเรียนมีน้อยสาเหตุคงมาจากชาวบ้านแสดงความรังเกียจนักเรียนที่เรียนในโรงเรียนของชาวต่างชาติ มีนักเรียนหลายคนย้ายไปเรียนต่อที่โรงเรียนของรัฐบาลเพื่อความปลอดภัย และยังมีข่าวลือออกมาว่าคนต่างชาติโดยเฉพาะชาวฝรั่งเศสจะถูกเนรเทศออกนอกประเทศ โดยรัฐบาลไทยได้มีประกาศให้ชาวฝรั่งเศสไปรายงานตัวกับรัฐบาล สถานการณ์ในเชียงใหม่เลวร้ายลงอย่างมากโดยมีการเรียกประชุมครูคนไทยทั่วเชียงใหม่เพื่อให้ไปฟังบรรยายถึงความเลวร้ายของบรรดาคนต่างศาสนาโดยเฉพาะศาสนาคริสต์ คุณพ่อบุญชู ระงับพิษ ซึ่งมารับตำแหน่งไม่นานก็ได้รับคำเตือนจากผู้ใหญ่ของบ้านเมืองให้นำไม้กางเขนตลอดจนเครื่องบูชามิสซาที่เก็บใว้ภายในวัด ให้นำออกไปจากวัด เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกเผาวัดอันเนื่องจากผลมาจากความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลฝรั่งเศส แต่สุดท้ายโชคดีที่ไม่มีเหตุการณ์ร้ายแรงดังกล่าวเกิดขึ้นกับวัดและโรงเรียนพระหฤทัย
ต่อมา คุณพ่อบุญชู ระงับพิษ ได้ลาออกจากตำแหน่งผู้จัดการ(โดยย้ายไปประจำอยู่ที่จังหวัดจันทบุรี) จึงได้แต่งตั้ง ซิสเตอร์ประภา เงินเล็ก เป็นผู้จัดการโรงเรียนแทน ในวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๘๕ และในปลายปีนี้เอง พระสังฆราชเรอเน แปร์รอส ได้จัดให้มีการเลือกตั้งอธิการิณีสูงสุดของคณะพระหฤทัยขึ้นเป็นครั้งแรก โดยคุณแม่เอลีซาเบธ ธานี บุญคั้นผล ได้รับเลือกเป็นอธิการริณีเจ้าคณะ ซึ่งในขณะนั้นสถานการณ์การเมืองก็ยังไม่มีทีท่าว่าสงบ อีกทั้งจำนวนนักเรียนมีน้อย ทั้งคุณพ่อและซิสเตอร์ต่างต้องทำงานหนัก การใช้ชีวิตต้องพึ่งตนเอง มีการปลูกผัก เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ ด้วยความยากลำบากเป็นอย่างมาก ซิสเตอร์อยู่ทำงานจนครบวาระเป็นเวลา 2 ปี ทางคณะจึงได้ส่ง ซิสเตอร์พิกุล โรจน์รัตน์ มาเป็นผู้จัดการโรงเรียนแทน และแต่งตั้งให้ นายวาสน์ สว่างงาม ซึ่งเป็นสัตบุรุษวัดพระหฤทัย ดำรงตำแหน่งครูใหญ่แทนซิสเตอร์พิกุล โรจน์รัตน์ ในปี ๒๔๘๙ และเป็นผู้แทนรับใบอนุญาต โดยในปีนี้เองทางกระทรวงศึกษาธิการได้มองเห็นความสำคัญด้านการเรียนการสอนได้มีการมอบทุนอุดหนุนครูสอนนานที่มีวุฒิการศึกษา นับเป็นนิมิตหมายดีในการสร้างขวัญและและกำลังใจของครูในขณะนั้น หลังจากปี พ.ศ. ๒๔๙๕ – พ.ศ. ๒๕๐๘ มีการเปลี่ยนแปลงผู้จัดการและครูใหญ่จำนวนหลายคน คุณพ่อหลุยส์ แบร์ เข้ามาพัฒนาโรงเรียนพระหฤทัยในนามคณะ M.E.P. เป็นคนสุดท้าย ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนคณะในการบริหารโรงเรียน โดยคุณพ่อสนใจเรื่องโรงเรียนเป็นอย่างมากได้พยายามทุ่มเทกำลังกาย ใจ ในการพัฒนาโรงเรียนจึงได้สร้างอาคารเรียนขึ้นใหม่ 2 หลัง รวมทั้งได้เปิดหอพักรับนักเรียนประจำจนถึงปัจจุบันนี้ ต่อมาพระสังฆราชหลุยส์ โชแรง มอบงานแพร่ธรรมทั้งหมดในเขตภาคเหนือรวมทั้งโรงเรียนพระหฤทัยให้อยู่ในการดูแลของคณะเบธารามที่ลี้ภัยทางการเมืองมาจากมณฑล ยูนาน โดยมีพระสังฆราชลูเซียน ลากอสต์ เป็นผู้รับผิดชอบดูแล นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งที่สำคัญด้านบุคลากรในงานแพร่ธรรมและงานบริหารโรงเรียนพระหฤทัย คุณพ่อซาวเวอร์ ลองไดซ์ เป็นพระสงฆ์คนแรกของคณะที่เป็นเจ้าอาวาสวัดพระหฤทัยพร้อมกับคุณพ่อเปเดบิโด เป็นผู้ช่วย ได้มีการปรึกษาหารือกันเกี่ยวกับงานแพร่ธรรมและการบริหารโรงเรียนพระหฤทัยอย่างรีบด่วน เพื่อกำหนดแนวทางในการบริหารงานของคณะเบธารามในการดำเนินงานต่อจากคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส( M.E.P. ) ซึ่งคุณพ่อ ลองไดซ์ มีความเข้าใจในเบื้องต้นว่านักเรียนพระหฤทัยทั้งชายหญิง หลังจากจบชั้นประถม ถ้าเป็นเด็กผู้ชายจะเข้าเรียนต่อในโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย ส่วนด็กผู้หญิงจะเรียนต่อที่โรงเรียนเรยีนาเชลีวิทยาลัย แต่เด็กที่มีฐานะยากจน และเด็กกำพร้า ไม่มีโอกาสที่จะได้เรียนต่อ คุณพ่อได้ออกไปสำรวจข้อมูลด้วยตนเองโดยการไปเยี่ยมเยียนสัตบุรุษทุกบ้านในเขตวัด รวมทั้งได้พูดคุยกับอธิการของโรงเรียนทั้งสองแห่ง ทำให้คุณพ่อตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และด้วยมโนธรรมที่เปี่ยมล้นไปด้วยความห่วงใยต่อผู้ปกครองและเด็กนักเรียนที่หวังใจอยากให้ได้รับการศึกษาเล่าเรียนเพื่อประโยชน์ของตัวเด็กเองในกาลข้างหน้า ซึ่งหากโรงเรียนพระหฤทัยไม่ดำเนินการขยายชั้นเรียนเพิ่มขึ้น เด็กเหล่านั้นจะไม่มีโอกาสได้ศึกษาเล่าเรียน ประกอบกับโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย และโรงเรียนเรยีนาเชลีวิทยาลัยไม่สามารถที่จะรองรับนักเรียนที่จบจากพระหฤทัยได้ แต่จะคัดเลือกเอาเฉพาะนักเรียนที่มีผลการเรียนดีไปเท่านั้น คุณพ่อได้นำปัญหาที่เกิดขึ้นปรึกษากับพระสังฆราชลากอสต์และพระสงฆ์ของคณะเบธาราม พร้อมกับได้ข้อสรุปว่า โรงเรียนพระหฤทัยจะต้องขยายอาคารเรียนเพื่อแก้ไขปัญหาทั้งหมด แต่ขาดงบประมาณในการดำเนินงานก่อสร้างที่จะต้องใช้เงินถึง ๒ แสนบาท พระสงัฆราช ลากอสต์ ได้ประชุมคุณพ่อทั้งหมดของคณะว่า “ให้เราทุกคนเสียสละเงินที่ได้รับจากครอบครัว หรือมีผู้ใจบุญช่วยเหลือในงานแพร่ธรรมของวัดต่างๆ ให้นำเงินนั้นมาเป็นค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างโรงเรียนพระหฤทัยไปก่อน” ซึ่งคุณพ่อทุกคนเห็นด้วย ดังนั้นคุณพ่อลองไดซ์จึงได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารเซนต์โยเซฟ ซึ่งเป็นอาคารเรียน ๒ ชั้น มี ๘ ห้องเรียน จนอาคารแล้วเสร็จแล้วเปิดใช้ในปีการศึกษาถัดมา และการที่คุณพ่อมีประสบการณ์ในการทำงานจากประเทศจีน สามารถพูดภาษาจีนได้อย่างคล่องแคล่ว อีกทั้งเป็นผู้มีอัธยาศัยดี มีความเอาใจใส่ต่อสัตบุรุษ และผู้ปกครองนักเรียน ท่านมักจะปั่นจักรยานไปเยี่ยมเยียนผู้ปกครองและนักเรียนอย่างสม่ำเสมอ ยิ่งถ้าเป็นผู้ปกครองนักเรียนที่เป็นชาวจีนในเชียงใหม่ ท่านก็จะสนทนากันด้วยภาษาจีนอย่างสนุกสนาน จนทำให้โรงเรียนพระหฤทัยมีบุตรหลานพ่อค้าคหบดีชาวจีนนำบุตรหลานมาเข้าเรียนในโรงเรียนเป็นจำนวนมาก และในปี ๒๕๐๔ ได้มีการสร้างอาคารเรียนเรือนไม้อีกหลัง เป็นตึก ๒ ชั้นที่สวยงาม โดยใช้ชื่อว่า ตึก เซนต์โรส เพื่อให้เพียงพอกับจำนวนนักเรียน อีก ๒ ปีถัดมา ได้สร้างอาคารมิราแบล เพื่อใช้เป็นห้องสมุด และห้องวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัย
สืบเนื่องมาจากการบริหารพัฒนาโรงเรียนที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นด้านอาคารสถานที่ที่ได้มาตรฐานและบุคลากรครูที่มีประสิทธิภาพ จึงทำให้ประสิทธิผลของนักเรียนเป็นเลิศในทุกๆด้าน ทางกระทรวงศึกษาธิการจึงได้ประกาศรับรองวิทยฐานะโรงเรียนพระหฤทัย เทียบเท่ามาตรฐานของโรงเรียนรัฐบาลเมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๘ และปีถัดมา คุณพ่อเปรโตร ซัลลา เข้ามารับตำแหน่ง โดยมีคุณพ่อ ไรมอนโด แปร์ลินี เป็นผู้ช่วย ได้มีการก่อสร้างอาคารเรียนหลังใหม่ คือ เซนต์แมรี่ ๓ ชั้น โรงอาหาร หอประชุมและสนามบาส เพื่อให้เพียงพอกับจำนวนนักเรียนที่เพิ่มขึ้น ในปี พ.ศ ๒๕๑๘ พระสังฆราชลูเซียน ลากอสต์ ได้ลาออกจากตำแหน่งเนื่องจากชราภาพ และสมเด็จพระสันตะปาปาได้แต่งตั้งให้ คุณพ่อโรเบิร์ตรัตน์ บำรุงตระกูล เป็นพระสังฆราช ของ มิสซังเชียงใหม่และในช่วงนี้เองมิสซังเชียงใหม่ได้มีพระสงฆ์จากมิสซังราชบุรีขึ้นมาช่วยงานที่มิสซังเชียงใหม่จำนวนหลายท่าน อาทิเช่น คุณพ่อวิโรจน์ อินทรสุขสันต์ คุณพ่อวิชัย แสนสุดสวาท คุณพ่อชุนเฮง ก๊กเครือ และมีอยู่ท่านหนึ่งที่ได้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท ด้านบริหารการศึกษาจากประเทศสหรัฐอเมริกา คือคุณพ่อ วิชัย แสนสุดสวาท นับเป็นพระพรของพระเจ้าที่ได้ส่งบุคคลที่มีความรู้ความสามารถมาเพื่อเป็นขุมปัญญาในการพัฒนาและยังประโยชน์แก่มิสซังเชียงใหม่ให้เจริญก้าวหน้า และขณะเดียวกันนั้นทางด้านวงดุริยางค์ของโรงเรียนก็กำลังเป็นที่ชื่นชอบของประชาชนชาวเชียงใหม่ โดยเฉพาะกิจกรรมวันปิยะมหาราช จะมีการประชันวงดุริยางค์ของโรงเรียนต่างๆในเขตเชียงใหม่ วงดุริยางค์ของโรงเรียนพระหฤทัย ได้รับการกล่าวขานด้วยความชื่นชม จากการบรรเลงที่ไพเราะ พร้อมกับเครื่องแต่งกายที่สวยงาม สะดุดตา สีชมพู ขาว ส่วนด้านเรื่องการกีฬาโดยเฉพาะกีฬาวอลเล่ย์บอลซึ่งได้รับความนิยมในขณะนั้นโดยมีครูพลศึกษาที่มีความสามารถคือ ม. ณรงค์ สังหนุน เป็นครูผู้ฝึกสอนนักเรียนจนมีชื่อเสียง และได้รับชัยชนะเป็นประจำทุกปีจนเป็นที่ประจักษ์และเกรงขามในความสามารถของนักเรียนพระหฤทัย และในขณะที่ทุกอย่างดำเนินไปอย่างราบรื่นทุกคนมีความสุขกับการเรียนการสอนและทำกิจกรรมในโรงเรียน ก็มีข่าวร้าย ที่ทำให้บรรดาศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันในขณะนั้น ต่างตกใจเมื่อทราบว่า ซิสเตอร์ประไพ มาลีวงษ์ ซึ่งเป็นอธิการโรงเรียนถึง ๓ วาระ ท่านเป็นที่รักของผู้ปกครอง ครู ศิษย์เก่า และศิษย์ปัจจุบันของชาวเชียงใหม่เป็นอย่างมาก โดยเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันได้เกิดขึ้น ท่านได้อำลาโรงเรียนพระหฤทัยที่ท่านรักไปอย่างไม่มีวันกลับอย่างสงบ เมื่อวันที่ ๑๙มิถุนาย ๒๔๒๓ ด้วยอุบัติเหตุพลัดตกจากเก้าอี้ทำให้เส้นเลือดในสมองแตก ขณะตกแต่งดอกไม้ในบุษบกเพื่อเตรียมฉลองนามชื่อของวัดและโรงเรียนพระหฤทัย ยังความเสียใจแก่บรรดาคณะผู้บริหาร คณะครู ศิษย์เก่า และชาวเชียงใหม่เป็นอย่างมาก พิธีศพของท่านได้จัดขึ้นอย่างสมเกียรติที่วัดพระหฤทัย มีบรรดาพระสงฆ์ นักบวช ศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันมาร่วมอย่างเป็นจำนวนมาก ก่อนจะนำไปบรรจุที่สุสาน ณ บ้านศูนย์กลางของคณะ ณ โรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์ กรุงเทพ ฯ และเพื่อเป็นการระลึกถึงคุณงาม ความดี ของซิสเตอร์ที่มีต่อโรงเรียนพระหฤทัย จึงได้มีการจัดตั้งกองทุน ประไพ มาลีวงษ์ ซึ่งเป็นทุนทรัพย์ที่ได้มาจากการบริจาคของคณะครู เพื่อมอบให้แก่นักเรียนที่ยากจนแต่เรียนดี โดยเริ่มมีเงินบริจาคเข้ากองทุนครั้งแรก 50,000 บาท
ในปลายปี พ.ศ ๒๕๒๓ ได้มีการสร้างตึกพระหฤทัย(ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นชื่อตึกมาการีตา) เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ๔ ชั้น โดยใช้งบประมาณ ๔ แสนบาท ควบคุมการก่อสร้างโดยคุณพ่อไรมอนโด แปร์ลินี ซึ่งมีความรู้เกี่ยวกับการก่อสร้างเป็นอย่างดี โดยใช้เป็นห้องเรียนและห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัย ห้องดนตรี ห้องสมุด และ ห้องวิชาการ
และเพื่อเป็นการส่งเสริมสนับสนุนนักเรียนพระหฤทัยให้เป็นเลิศในทุกๆด้าน ทางโรงเรียนจึงได้ร่วมมือกับผู้ปกครอง จัดให้มีการก่อตั้งสมาคมผู้ปกครองและครูขึ้นเป็นครั้งแรก โดยมีนายประพันธ์ บูรณุปกรณ์ เป็นนายกสมาคม ในวันที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๔ ได้จัดงานวันผู้ปกครองขึ้น มีการประชุมผู้ปกครองเพื่อระดมความคิดในการร่วมมือเพื่อพัฒนาโรงเรียนและนักเรียนในทุกๆ ด้าน หลังจากนั้นในราวปลายปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้มีพิธีเปิดป้าย “สมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนพระหฤทัย” อย่างป็นทางการ โดยได้รับเกียรติจากท่านศึกษาธิการจังหวัดเชียงใหม่มาเป็นประธานเปิดป้าย พร้อมกันนั้นได้มีการเลือกตั้งสมาคมผู้ปกครองชุดใหม่ แทนชุดเดิมที่หมดวาระ ผลการเลือกตั้งได้นายกคนใหม่ คือนายแพทย์สมจิตร สุวรรณสารกุล มีคณะกรรมการร่วมทำงานทั้งหมด ๒๐ ท่าน จากนั้นในปีเดียวกันนี้ได้สร้างอาคารใหม่ คือ “อาคารพระกุมารเยซู” เป็นตึกคอนกรีตเสริมเหล็กสูง ๒ ชั้น สำหรับเป็นห้องเรียน ห้องนอน ห้องอาหาร ห้องพยาบาล และห้องพักครู และโรงเรียนได้ทำพิธีเปิดป้ายอาคารเรียนหลังใหม่ในวันฉลอง 50 ปี การก่อตั้งโรงเรียน “สุวรรณสมโภช” เมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๕ ซึ่งมีคุณพ่อวิโรจน์ อินทรสุขสันต์ เป็นผู้แทนผู้รับใบอนุญาต โดยมีซิสเตอร์สุวรรณ ประราศี เป็นผู้จัดการและครูใหญ่ โดยมีความพยายามมุ่งมั่นพัฒนาโรงเรียนด้านระเบียบวินัย ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความสวยงามด้านอาคารสถานที่ จากนั้นซิสเตอร์สมศรี กิจพิทักษ์ และซิสเตอร์สมพร กตัญญู ได้มาบริหารโรงเรียนเป็นระยะเวลาสั้นๆ และซิสเตอร์สดับ พงศ์ศิริพัฒน์ มาดำรงตำแหน่งผู้จัดการและครูใหญ่แทน ในสมัยนี้โรงเรียนพระหฤทัยมีการพัฒนาอย่างมาก ได้ก่อสร้างอาคารเรียนพระแม่มารีย์ 8 ชั้น และอาคารเอนกประสงค์มัธทิว ขยายห้องเรียนเพิ่มขึ้น จากระดับชั้นละ 5 ห้องเรียน เป็น 7 ห้องเรียน ขยายห้องเรียนฝ่ายอนุบาลเพื่อรองรับนักเรียนที่สมัครเข้ามาเรียนอย่างมากมาย ส่วนสมาคมผู้ปกครองมีการเลือกตั้งใหม่และได้ ดร.โกศล สาระเวก เป็นนายกสมาคมต่ออีก ๑ วาระ วันที่ ๑๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๘ ได้ทำพิธีเปิด “ศาลาร่มไทร” ซึ่งเป็นศาลาเอนกประสงค์ ตั้งอยู่ด้านริมฝั่งแม่น้ำปิง เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กสูง ๑ ชั้น มีห้องใต้ดินไว้เก็บอุปกรณ์คหกรรมและอุปกรณ์อื่น ๆ สำหรับใช้ประกอบการเรียนการสอน และได้เปิดห้องสมุดระดับอนุบาล ระดับประถม ซึ่งทางคณะกรรมการบริหารสมาคมผู้ปกครองและโรงเรียนพระหฤทัยร่วมกันบริจาคทรัพย์และหนังสือเพื่อนำเข้าห้องสมุด และร่วมกันดำเนินการปรับปรุงห้องสมุดมัธยม และห้องวิทยาศาสตร์ด้วย เพื่อรองรับจำนวนนักเรียนที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี โดยในปีพ.ศ. ๒๕๓๐ มีนักเรียนจำนวนมากถึง ๓,๓๖๖ คน
พ.ศ. ๒๕๓๓ ทางโรงเรียนได้ปรับภูมิทัศน์บริเวณภายใน เพื่อความร่มรื่นสวยงามและเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของนักเรียนโดยได้สร้างน้ำตกจำลองพร้อมสวนหย่อน เพิ่มต้นไม้และม้าหินอ่อนสำหรับนักเรียนในแผนกอนุบาล จัดทำสนามหญ้าหน้าอาคารเซนต์โยแซฟ และ อาคารมิราแบล ในด้านการปรับปรุงอาคารได้มีการจัดหาอุปกรณ์ สำหรับการใช้ไฟฟ้าในโรงเรียนพระหฤทัย จัดทำห้องปฏิบัติการภาษาเพื่อเสริมทักษะทางด้านภาษาต่างประเทศแก่นักเรียน ขนาด ๖๐ ที่นั่ง
ในปีนี้คุณพ่อนิพจน์ เทียนวิหาร รับตำแหน่งผู้รับใบอนุญาตและเจ้าอาวาสสืบต่อจากคุณพ่อวิชัย แสนสุดสวาท ซึ่งครบวาระและย้ายไปประจำที่จังหวัดราชบุรี ส่วนซิสเตอร์สดับ พงศ์ศิริพัฒน์ ครบวาระเช่นกันได้มีซิสเตอร์โนรา ระดมกิจ มารับตำแหน่งผู้จัดการและครูใหญ่แทน ในปีนี้ได้ขยายโรงอาหารเพิ่มขึ้นอีก ๒ แห่ง ที่ได้มาตรฐานถูกสุขอนามัย ปรับปรุงอาคารร้านค้าสวัสดิการ ร้านอาหารให้เหมาะสม ขยายพื้นที่จอดรถให้กับครูและผู้ปกครองในบริเวณลานข้างโบสถ์ หน้าสุสาน เพื่อความสะดวกสบายของผู้ปกครองที่มารับ ส่ง บุตรหลาน ปรับห้องเก็บของให้เป็นห้องสื่อการเรียนการสอนของหมวดวิชาต่างๆปรับสนามหญ้าให้แผนกอนุบาล และนักเรียนหอพักโดยการรื้ออาคารที่พักของนักการภารโรง และปรับสนามเล่นของนักเรียน ปรับปรุงโครงสร้างระบบบริหารให้เป็นฝ่ายตามแผนงาน ได้ปรับปรุงและจัดแบ่งห้องให้เหมาะสมกับงาน โดยเพิ่มห้องประชาสัมพันธ์ซึ่งแยกตัวมาจากห้องธุรการ และห้องโสต ฯ ปรับปรุงระบบเครื่องเสียงที่ทันสมัย ใหม่ทั้งระบบ
จากการพัฒนาโรงเรียนอย่างไม่หยุดยั้งในทุกๆด้านสู่ความเป็นเลิศที่ผ่านมา ทางโรงเรียนจึงได้รับคัดเลือกจากกระทรวงศึกษาธิการ ให้เป็นโรงเรียนรับรางวัลพระราชทาน ประเภทโรงเรียนระดับมัธยมขนาดกลาง ประจำปีการศึกษา ๒๕๓๔ โดยซิสเตอร์โนรา ระดมกิจ ได้เข้ารับรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ในวันที่ ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ ณ ศาลาดุสิตาลัย พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พ.ศ. ๒๕๓๕ ยังความยินดีกันถ้วนหน้าทั้งศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันซึ่งขณะนั้น โรงเรียนพระหฤทัยมีนักเรียนทั้งหมด ๔,๑๖๘ คน มีครูทั้งหมด ๑๖๐ คน การจัดการศึกษา โรงเรียนได้มุ่งเน้นการเสริมสร้างคุณธรรมและจริยธรรมแก่บุคลากรทุกฝ่าย จนเป็นที่ประจักษ์และได้รับคัดเลือกจากกลุ่มโรงเรียนมัธยมจังหวัดเชียงใหม่ ให้เป็นโรงเรียนที่จัดกิจกรรมจริยธรรมดีเด่น ที่เห็นผลเด่นชัด คือ ค่ายคุณธรรม และการสอนจริยธรรมแทรกในทุกวิชา จนเป็นที่ยอมของชุมชนและ สังคมเมืองเชียงใหม่ในวงกว้าง ว่าลูกๆพระหฤทัยที่ล้วนจบการศึกษาไปได้กลายเป็นเมล็ดพันธ์ชั้นเลิศที่ล้วนแต่งดงามในคุณธรรมและจริยธรรม อันเป็นผลมาจากการเพาะบ่ม อบรมของสถานศึกษา ส่งผลให้ได้รับคัดเลือกจากกระทรวงศึกษาธิการให้เป็นสถานศึกษาที่จัดการเรียนการสอนจริยศึกษาดีเด่น ประจำปี ๒๕๓๕ นอกจากนี้ยังได้จัดงานฉลองชัยพระหฤทัย ๖๐ ปี เนื่องในโอกาสที่ครบรอบ ๖๐ ปี ของการก่อตั้งโรงเรียน และเฉลิมฉลองโอกาสที่ได้รับเลือกเป็นโรงเรียนรับรางวัลพระราชทาน ภายในปีเดียวกันนี้ได้มีการริเริ่มก่อตั้งสมาคมศิษย์เก่าพระหฤทัย
พ.ศ. ๒๕๓๖ ทางสังฆมณฑลเชียงใหม่ ได้มอบหมายให้พ่อพงศ์เทพ ประมวลพร้อม
และพ่อทัศน์ศิลป์ นวลคำมา มาดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเจ้าอาวาส และเป็นคณะกรรมการบริหาร และทางโรงเรียนได้ก่อสร้างอาคารสำหรับเยาวชนหญิงที่ด้อยโอกาสที่ได้เข้ามาอบรมและเสริมทักษะด้านอาชีพอันเป็นการเสริมสร้างและให้โอกาสเยาวชนหญิงให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทางโรงเรียนได้มุ่งเน้นส่งเสริมสุขภาพของบุคลากรซึ่งจัดให้มีการตรวจสุขภาพประจำปี โดยคณะแพทย์และพยาบาลของโรงพยาบาลชั้นนำของเชียงใหม่ และปลายปีเดียวกันได้ทำการก่อตั้งสมาคมศิษย์เก่าพระหฤทัยเป็นผลสำเร็จ โดยมีคุณวารุณี จิวติกิตติศักดิ์กุล ศิษย์เก่าพระหฤทัย รุ่นที่2 ปีพุทธศักราช 2505 เป็นนายกสามคมศิษย์เก่าคนแรก และได้ขยายปรับปรุงโรงเรียนอีกหลายโครงการ อาทิ สร้างโรงเก็บรถจักรยานยนต์สำหรับครูและนักเรียน ทำถนนทางเดินให้กว้างขึ้นและต่อเติมหลังคาเพื่อกันแดดกันฝนหน้าตึกมิราแบล ในปีเดียวกันนี้โรงเรียน พระหฤทัยได้รับคัดเลือกเป็นอุทยานการศึกษา พ.ศ. ๒๕๓๗ อันเป็นการแสดงให้เห็นถึงการจัดการศึกษาแบบบูรณาการอย่างมีองค์รวม และได้มีการพัฒนาบุคลากรครู โดยการจัดสัมมนา ทัศนศึกษา และให้ความรู้แก่ ครูทุกสาขาวิชา โดยมุ่งเน้นให้ครูนำความรู้ความสามารถมาพัฒนาตนเองในด้านการเรียนการสอน ได้จัดขวัญกำลังใจให้ครูในโอกาสต่าง ๆ จนครูได้รับรางวัลครูดีเด่นทุกปี จากกระทรวงศึกษาธิการ และจากสมาคมโรงเรียนเอกชนจังหวัดเชียงใหม่ ในส่วนของนักเรียนได้มีโอกาสแสดงความสามารถทั้งในและนอกโรงเรียนเป็นที่ประจักษ์แก่ชุมชนสังคมและประเทศชาติ อาทิ ได้รับรางวัลเหรียญทองเหรียญเงินจากการแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์ ระดับประเทศ และได้รับการคัดเลือกไปแข่งขันในนามของประเทศไทย จนได้รับรางวัลชนะเลิศเหรียญทองโครงงานวิทยาศาสตร์ที่ประเทศตุรกี พ.ศ. ๒๕๓๘ และเพื่อเป็นการช่วยเหลือเยาวชนที่ด้อยโอกาสทางการศึกษา ทางโรงเรียนได้ขออนุมัติเปิดโรงเรียนผู้ใหญ่พระหฤทัย ระดับมัธยมต้นและมัธยมปลาย เพื่อให้เยาวชนนอกโรงเรียนที่มีความใฝ่รู้ได้ศึกษาหาความรู้อันเป็นการพัฒนาตนเอง นอกจากนั้นทางโรงเรียนยังมีโครงการต่าง ๆ อีกมากมาย เพื่อใช้เป็นกิจกรรมเสริมในการอบรมนักเรียน และพัฒนาทักษะในการสอนของครูเป็นต้น ส่วนงานด้านการช่วยเหลือเกื้อกูลสังคม ทั้งนักเรียนและครูได้เข้าร่วมค่ายพัฒนาการเรียนรู้ชีวิต นอกจากโรงเรียนยังได้ปลูกฝังระบบประชาธิปไตยแก่นักเรียนในวัยเยาว์ โดยจัดประสบการณ์ตรงให้กับนักเรียนได้เรียนรู้ คือ การเลือกตั้งคณะกรรมการสภานักเรียน ในด้านอาคารสถานที่ได้พัฒนาระบบจราจรภายในโรงเรียนทางม้าลายในโรงเรียน จัดปรับปรุงซ่อมแซมสถานที่ให้เป็นสัดส่วนสวยงาม เพื่อนักเรียนและครูจะได้พักผ่อนในบรรยากาศที่ร่มรื่นอันเป็นการสร้างสุนทรียภาพและบรรยากาศในการเรียนรู้ และยังให้บริการแก่ชุมชนในหลายๆด้านทุกครั้งเมื่อมีโอกาส จากการดำเนินงานตามโครงการเหล่านี้ทำให้นักเรียนมีคุณภาพ สามารถแสดงออก และพัฒนาตนเองทุกด้านได้ในระดับดีถึงดีมาก โดยติดตามผลจากศิษย์เก่าที่ประสบผลสำเร็จ ทั้งเรื่องการศึกษาต่อ การประกอบอาชีพ และการดำเนินชีวิต
และในปีการศึกษานี้เองทางโรงเรียนได้ทำการประเมินตนเองในเรื่องการดำเนินงานของโรงเรียนใน ๘ แผนงาน ในตลอดระยะเวลา ๕ ปีที่ผ่านมา คือ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๔ – ๒๕๓๘ เพื่อประเมินสภาพจริงของสถานศึกษาและหาแนวทางเพื่อพัฒนาต่อไป ซึ่งทำให้บุคลากรทุกฝ่ายในโรงเรียนมีส่วนร่วม และเข้าใจนโยบายตลอดจนเป้าหมายของโรงเรียนได้ดียิ่งขึ้น ในพ.ศ. ๒๕๓๙ทางโรงเรียน จัดให้มีการอบรมสัมมนาครูตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการตามบัญญัติ ๑๐ ประการ ทั้งยังปรับปรุงสนามหญ้า ปูอิฐบล็อก เพิ่มสนามบาสเกตบอล สนามวอลเล่ย์บอล ปรับเปลี่ยนเสาธงชาติใหม่ จัดทำคู่มือครู ทำห้องโสตทัศนูปกรณ์ ห้องจริยธรรมและสร้างห้องศูนย์สื่อแผนกอนุบาล ตลอดจนจัดหาอุปกรณ์เครื่องนอนสำหรับนักเรียนอนุบาล ปรับปรุงห้องปกครอง จัดทำธรรมนูญโรงเรียน (ฉบับร่าง) จัดทำเอกสารการปฏิรูปการศึกษาตามแนวบัญญัติ ๑๐ ประการ เพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงสู่ความพร้อมทุกๆด้านของโรงเรียนในอนาคตอันใกล้
นอกจากนี้ยังได้จัดทำแฟ้มเอกสารผลงานต่าง ๆ อาทิเช่น แฟ้มผลงานของอธิการโนรา ระดมกิจ “ ๖ ปี แห่งความทรงจำ” แฟ้มผลงานของบาทหลวงนิพจน์ เทียนวิหาร แฟ้มสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนพระหฤทัย แฟ้มสมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนพระหฤทัย พ.ศ. ๒๕๔๐ จัดสร้างรั้วด้านหลังโรงเรียน จัดให้มีการนำคอมพิวเตอร์มาใช้ในห้องการเงินเพื่อความเที่ยงตรงและความสะดวกรวดเร็วของผู้มารับบริการ ปรับปรุงคู่มือนักเรียนตามหลักสูตรใหม่ และเพื่อเป็นการส่งเสริมและปลูกผังให้นักเรียนมีสุนทรียภาพในนาฏศิลป์ ทางโรงเรียนเล็งเห็นความสำคัญจึงได้ให้ชั้นอนุบาลเปิดทำการสอนบัลเลย์ เพื่อเป็นการปูพื้นฐานด้านสุนทรียภาพแก่นักเรียน ในด้านการพัฒนาสื่อการเรียนการสอนมีนโยบายให้จัดสื่อการเรียนรู้ที่หลากหลายมิติเพิ่มมากขึ้น เช่น การจัดหารูปปั้นสัตว์จำลองมาจัดแต่งเป็นสวนสัตว์ให้นักเรียนได้ศึกษา เพื่อเชื่อมโยงมิติ องค์ความรู้อย่างบูรณาการ สร้างห้องเรียนอิเลคโทนให้นักเรียนชั้นประถมปีที่ ๑ ถึง ประถมปีที่ ๕ จัดหาเครื่องดนตรีสากล สำหรับจัดตั้งวงดุริยางค์ที่มีมาตรฐานสำหรับโรงเรียน ปรับปรุงโรงอาหาร และโภชนาการของโรงเรียนให้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งติดตั้งพัดลมภายในโรงอาหารครู จัดให้มีธรรมนูญโรงเรียน เพื่อส่งสำนักพัฒนาการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม เขตการศึกษา ๘ และในปีนี้เองโรงเรียนได้รับคัดเลือกจากสำนักงานศึกษาธิการอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ให้เป็นโรงเรียนจัดกิจกรรม พร้อมกันนี้ได้มอบรางวัลแก่ครูของโรงเรียนในฐานะครูผู้มีผลงานจริยธรรมดีเด่น ครูผู้จัดกิจกรรมจริยธรรมยอดเยี่ยม ของกลุ่มโรงเรียนมัธยมศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ และครูของโรงเรียนได้รับคัดเลือกจากฝ่ายการศึกษาคณะพระหฤทัยของพระเยซูเจ้าแห่งกรุงเทพ ให้เป็นบุคคลผู้สอนจริยธรรมดีเด่น
ในปี พ.ศ ๒๕๓๙ คุณพ่อทัศน์ศิลป์ นวลคำมา ได้ดำรงตำแหน่งผู้แทนผู้ได้รับใบอนุญาตต่อจากคุณพ่อนิพจน์ เทียนวิหาร ที่ลาพักรักษาสุขภาพ และเช่นกันคณะพระหฤทัยได้ส่งซิสเตอร์ วรรณวิมล สุขสวัสดิ์ ได้ดำรงตำแหน่งผู้จัดการและครูใหญ่โรงเรียนแทน ซิสเตอร์โนรา ระดมกิจ ในช่วงนี้ได้มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาโรงเรียนในหลายๆด้าน อาทิเช่น สร้างอาคารเรียนยอแซฟและอาคารพระหฤทัย มีการขยายชั้นเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน ๕ ห้องเรียน โดยแบ่งออกเป็น ๓ แผนการเรียน ดังนี้คือ แผนการเรียนวิทยาศาสตร์ – คณิตศาสตร์, แผนการเรียนอังกฤษ – คณิตศาสตร์ และ แผนการเรียนอังกฤษ – ฝรั่งเศส และวิชาพิเศษ วิชาดนตรี คอมพิวเตอร์ และบัลเลย์โดยจัดให้บริษัทที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะเป็นผู้ดำเนินการสอน ส่วนด้านวงดุริยางค์ของโรงเรียนมีการพัฒนาบุคลากรและจัดซื้อเครื่องดุริยางค์ใหม่และได้รับคัดเลือกจาก Pasadena Tournament of Roses ให้เข้าร่วมขบวน Roses Parade ครั้งที่ 9 ณ เมือง Pasadena รัฐ California ร่วมกับโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย ในขบวนรถบุพผาชาติ ชื่อ Amazing Thailandของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โดยมีมาสเตอร์บวร แห่ล้อม เป็นผู้ควบคุมวง และมาสเตอร์วิทยา ดวงจิต เป็นผู้ฝึกสอนอันเป็นการสร้างชื่อเสียงให้กับสถาบัน และประเทศชาติ ด้านการพัฒนา ด้านอุปกรณ์การเรียนการสอน จัดให้มีสระว่ายน้ำขนาดมาตรฐาน 1 สระ และสำหรับเด็กเล็กอีก 1 สระ ส่วนงานด้านศาสนา ได้มีการบูรณอาสนวิหารพระหฤทัยใหม่เพื่อให้ทันการเฉลิมฉลอง ปี “ปีติมหาการุณ” ด้านงานอภิบาล จัดให้มีคณะครูอาสาสมัครของโรงเรียนช่วยเหลือแบ่งปันความรู้ความสามารถ และสิ่งของให้กับโรงเรียนแม่ปอน ซึ่งเป็นโรงเรียนรัฐบาลในอำเภอจองทอง จังหวัดเชียงใหม่ โดยไปทำการสอนให้กับนักเรียนชั้นประถมปีที่ ๓ ถึง ชั้นประถมปีที่ ๖ ในวิชาต่าง ๆ ทุก ๆ ๒ สัปดาห์ จัดให้มีคณะกรรมการบริหารของโรงเรียน ตามแนวทางของการจัดทำธรรมนูญโรงเรียน ในด้านการพัฒนาคุณภาพของโรงเรียน ได้มีการดำเนินงานบริหารงานอย่างเป็นระบบครบวงวร และมีคุณภาพ ส่งผลให้โรงเรียนพระหฤทัยได้รับการรับรองคุณภาพมาตรฐานสากล ISO 9002 จากบริษัท Bureau Veritas Quality International โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิ ตัวแทนของบริษัทเป็นผู้ตรวจสอบ คือ คุณอุดมเดช คงทวีเลิศ และคุณนราพร ปัทมฤดี เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๒
และเพื่อเป็นการบูรณาการความรู้และจัดประสบการณ์ตรงอันเป็นการพัฒนาศักยภาพของนักเรียนหลากหลายมิติ ทางโรงเรียนได้จัดโครงการแลกเปลี่ยน รุ่นแรกที่โรงเรียน BILLY SCHOOL เมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย โดยมีนักเรียนเข้าร่วมโครงการจำนวน ๑๖ คน ครู ๒ ท่านและในปีเดียวกันนั้นเองมีบุคคลสำคัญมาเยี่ยมชมการเรียนการสอนของโรงเรียน คือ มร. เดวิท มัททาย เอกอัครราชทูตอิสราเอล ประจำประเทศไทยนับเป็นเกียรติประวัติของโรงเรียนอย่างยิ่ง วันที่ ๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้การรับรองมาตรฐานคุณภาพการศึกษาโรงเรียนเอกชนประเภทสามัญศึกษาจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน ทำให้โรงเรียนได้รับประกันคุณภาพการศึกษา ตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๔๒ ถึงปีการศึกษา ๒๕๔๖ อันแสดงถึงศักยภาพของโรงเรียนในการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพที่เป็นเลิศในทุกๆด้าน
ได้มีการเลือกตั้งนายกสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนพระหฤทัย ผลการเลือกตั้งได้นายกคนใหม่ คือ นายโสภณ โกชุม จากเสียงตอบรับและความสำเร็จอย่างงดงามทางโรงเรียนได้จัดโครงการซัมเมอร์คอร์สรุ่นที่ ๒ ณ เมือง Christchurch และ Queenston ประเทศนิวซีแลนด์ และโครงการแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมไทย – ออสเตรเลีย ณ โรงเรียนแม็คโดนัลด์ ประเทศออสเตรเลีย และเป็นไปตามความคาดหมายโดยประสบความสำเร็จด้วยดี โรงเรียนได้รับรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นขนาดกลาง ณ ศาลาดุสิตาลัย พระราชวังสวนจิตรลดา นับเป็นโรงเรียนได้รับคัดเลือกให้เป็นโรงเรียนสีขาว โดยจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมให้นักเรียนปลอดสิ่งเสพติด สื่อลามก จัดให้มีโครงการอาสาสมัครเนตรนารีจราจรจิตสำนึก เพื่อสังคมและส่วนรวมโรงเรียนได้รับการรับรองมาตรฐานคุณภาพการศึกษา ระดับก่อนประถม ประถม และมัธยมศึกษา ปีการศึกษา ๒๕๔๒ ถึงปีการศึกษา ๒๕๔๖ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชนได้นำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้ในงานด้านการเงิน เพื่อลดปัญหาการเก็บเงินซ้ำซ้อน และเพื่อความสะดวกรวดเร็วในการชำระเงินมีการพัฒนาการเรียนการสอน โดยให้ครูผู้สอนจัดทำสื่อการเรียนตามรายวิชาที่ได้รับผิดชอบรวมทั้งกลุ่มหมวดวิชาต่าง ๆสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้คณะผู้จัดงาน “วิพิธทัศนามหาราชันย์” จากโรงเรียนพระหฤทัย เชียงใหม่ เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายเงินรายได้จำนวนหนึ่งล้านบาท โดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย
ในโอกาสที่คณะภคินีพระหฤทัยของพระเยยูเจ้าแห่งกรุงเทพฯ ฉลองครบรอบ ๑๐๐ ปี ในปีพ.ศ.๒๕๔๓ คณะจึงมีนโยบายมอบขวัญและกำลังใจแด่ครูที่ปฏิบัติงานในโรงเรียนที่บริหารงานโดยคณะพระหฤทัยซึ่งโรงเรียนพระหฤทัยเป็นหนึ่งในโรงเรียนคณะบริหารได้มีการคัดเลือกครูดีเด่นประเภทครูดีศรีพระหฤทัย จำนวน ๖ ท่าน ร่วมงานฉลองครั้งนี้ คือ ครูปราณี ตั้งใจ ครูบุษยมาส สาริกบุตร ครูจรรยาลักษณ์ ใบเนียม ครูราตรี ชุ่มวารี ครูกัลยาณี ยิ่งยอด ม.มานพ ศรีวรกุล เข้ารับพระราชทานโล่ดีเด่นจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี ที่โรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์กรุงเทพมหานคร โรงเรียนพระหฤทัยได้ส่งนักเรียนเข้าร่วมประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ระดับมัธยมศึกษา ในโอกาสครบรอบ ๘๐ โรงเรียนเซนต์คาเบรียล สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศได้รับพระราชทานโล่จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี ครูเอมอร ตั้งศุภกุล ได้รับรางวัลครูผู้มีผลงานดีเด่นในด้านการศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการคุรุสภา จังหวัดเชียงใหม่ และครูผู้ปฏิบัติงานที่มีผลงานดีเด่น รางวัลคุรุสภา
ในปีการศึกษา ๒๕๔๔ คุณพ่อปิยะ โรจนะมารีวงศ์ ดำรงตำแหน่งผู้แทนผู้รับใบอนุญาต และคุณพ่อวีรวิทย์ สาสาย ดำรงตำแหน่งปลัดวัดและครูใหญ่โรงเรียนผู้ใหญ่พระหฤทัย ส่วนงานบริหารโรงเรียน คือ ซิสเตอร์ประสานศรี วงศ์สวัสดิ์โรงเรียนได้มีการพัฒนาก้าวหน้าในด้านต่าง ๆ เพิ่มขึ้น ได้ร่วมกับไปรษณีย์เชียงใหม่ เปิดที่ทำการไปรษณีย์อนุญาตเชียงใหม่ ๑๐๓ เพื่อเปิดบริการส่งจดหมายต่างๆ ให้กับบุคลากรในโรงเรียน ผู้ปกครอง และผู้ที่ต้องการใช้บริการ จัดอบรมวิจัยในชั้นเรียน โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน โรงเรียนได้รับรางวัลที่ ๑ ของสถานศึกษาที่ได้รับผลสำเร็จในการพัฒนาจิตพิสัยจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ สมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนพระหฤทัยเชียงใหม่ โดยนายโสภณ โกชุม นายกสมาคมมอบเครื่องพิมพ์บัตรประจำตัวนักเรียนที่ทันสมัยพร้อมอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ครบชุด เพื่อใช้ทำบัตรประจำตัวนักเรียนด้วยวัสดุ พี วี ซี และมีแถบแม่เหล็กในตัวนับว่าเป็นอุปกรณ์ที่ทันสมัยมากในขณะนั้น ได้รับโล่สถานศึกษาต้นแบบ (Modern School Network) ตามที่กระทรวงศึกษาธิการอนุมัติให้สถาบันพัฒนาผู้บริหารการศึกษาเป็นผู้ดำเนินการ เด็กหญิงอรุณโรจน์ ภู่สว่าง นักเรียนชั้นมัธยมปีที่ ๓ ได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนของจังหวัดเชียงใหม่ เข้าร่วมโครงการค่ายวิทยาศาสตร์เยาวชนช้างเผือกซิเมนต์ไทย มหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรี นางสาววรรษมนต์ ขาวผ่อง ได้รับรางวัลมาดิกราส์ควีน ครั้งที่ ๑ ของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตรนายกรัฐมนตรี ครูเอมอร ตั้งศุภกุล ได้รับประกาศเกียรติคุณให้เป็นครูภาษาไทยดีเด่น จากคุรุสภาพร้อมรับเข็มเชิดชูเกียรติจารึกอักษรย่อพระนามาภิไธย สธ. ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี
หลังจากโรงเรียนพระหฤทัยเปิดสอนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายนักเรียนรุ่นแรกก็ได้นำชื่อเสียงมาสู่โรงเรียนโดยได้รับคัดเลือกจากโครงการพิเศษที่ทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คัดเลือกนักเรียนที่มีผลการเรียนดีเข้าศึกษาต่อ มีนักเรียนชั้นมัธยมปีที่ ๖ ที่ได้รับคัดเลือก คือ
นางสาววรัญญา คำยอง คณะพยาบาลศาสตร์
นางสาวดรุณีย์ ตรีภูวพฤทธิ์ คณะมนุษยศาสตร์
นางสาวชฎาภรณ์ สีดา คณะมนุษย์ศาสตร์สาขาประวัติศาสตร์
นางสาวสาริณี เอื้อกิตติกุล คณะมนุษย์ศาสตร์สาขาวิชาภาษาไทย
นางสาววันดรุณ วิชัยคำ คณะบริหารธุรกิจ
นางสาวปพิชญา นาทอง คณะสังคมศาสตร์
นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาชนะเลิศการแข่งขันสวดมนต์หมู่ทำนองสรภัญญะของอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ในปีนี้คณะผู้บริหาร คณะครูและคณะนักเรียนมีความเศร้าโศกเสียใจเป็นอย่างมากที่ได้สูญเสียคุณครูจุฑามาศ ศรียอด ครูประจำชั้นประถมปีที่ ๑ / ๘ เนื่องจากภาวะของกรดในเม็ดเลือดทำงานผิดปกติ
ทางโรงเรียนได้พัฒนากระบวนการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งเน้นนักเรียนเป็นสำคัญ แผนงานนโยบายได้มีการปรับปรุงเพิ่มเติมอาคารเรียนต่าง ๆ โดยได้จัดสรรงบประมาณของโรงเรียน บางส่วนได้รับการสนับสนุนจากผู้ปกครอง สมาคมผู้ปกครองและครู และสมาคมศิษย์เก่าของโรงเรียน ซึ่งรายการปรับปรุงต่าง ๆ ในปีการศึกษา ๒๕๔๔ มีดังนี้ ปรับปรุงห้องประชุมอาคารมิราแบล มีห้องประชุมขนาดจุนักเรียนประมาณ ๒๐๐ คนใช้งบประมาณรวมเป็นเงิน ๓๐๐,๐๐๐ บาท (สามแสนบาทถ้วน) ปรับปรุงห้องศิลป์ ปรับปรุงศาลาร่มไทรเป็นห้องเรียนเอนกประสงค์ เพื่อสร้างบรรยากาศที่ร่มรื่น ให้เหมาะสมกับการเรียนการสอน ใช้งบประมาณเป็นเงิน ๓๐,๐๐๐ บาท (สามหมื่นบาทถ้วน) ปรับปรุงห้องทดลองวิทยาศาสตร์ที่อาคารมาการีตา ใช้งบประมาณ ๑๕๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งแสนห้าหมื่นบาทถ้วน) เปลี่ยนแปลงระบบไฟฟ้า เพื่อให้พอใช้ในอาคารเรียนต่าง ๆ ใช้งบประมาณ ๑๕๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งแสนห้าหมื่นบาทถ้วน) ติดตั้งฉนวนกันความร้อนและเครื่องระบายอากาศอาคารพระหฤทัย และอาคารยอแซฟ ชั้น ๔ ใช้งบประมาณ ๑๕๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งแสนห้าหมื่นบาทถ้วน) นอกจากนั้นได้ต่อเติมห้องประกอบการต่าง ๆ ใช้งบประมาณ ๒๐,๗๔๐ บาท (สองหมื่นเจ็ดร้อยสี่สิบบาทถ้วน) ทางโรงเรียนกำลังดำเนินการโครงการสร้างหลังคาคลุมสนามหญ้าอาคารมาการีตา ซึ่งต้องใช้งบประมาณอีกหลายล้านบาท
พ.ศ. ๒๕๔๕ ทางโรงเรียนได้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างผังองค์กร เพื่อให้ระบบการทำงาน
ชัดเจน และต่อเนื่องยิ่งขึ้น ได้มีการประกาศแต่งตั้งครูปราณี ตั้งใจดี ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยครูใหญ่
ระหว่างวันที่ ๒๒-๒๖มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๕ นักเรียนเข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมไทย – สิงคโปร์
โรงเรียนได้ทำการเลือกตั้งนายกสมาคมผู้ปกครองและครู แทนคณะกรรมการชุดเก่าที่หมดวาระ
ผลการเลือกตั้งได้ นายชัยฤทธิ์ วรรณประภา เป็นนายกสมาคมคนใหม่จนถึงปีการศึกษา ๒๕๔๖โรงเรียนพระหฤทัยได้รับรางวัลที่ ๑ สถานศึกษาที่จัดกิจกรรมเสริมสร้างน้ำใจไมตรีดีเด่นจากสภาวัฒนธรรม อำเภอเมืองเชียงใหม่ โรงเรียนพระหฤทัยได้รับคัดเลือกเป็นสถานศึกษาที่ให้บริการแนะแนวดีเด่น และครูที่ได้รางวัลครูแนะแนวดีเด่น ประจำปีการศึกษา ๒๕๔๕ จากศูนย์แนะแนวจังหวัดเชียงใหม่ คือ ครูฐานิฎฐ์ ดวงดาวโรงเรียนได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดศักยภาพในการป้องกันและควบคุมการเกิดโรไข้เลือดออก ปี พ.ศ. ๒๕๔๕ จากสำนักงานสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม วันที่ ๒๗ สิงหาคม ถึง วันที่ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๕ คณะผู้บริหาร คณะครู จำนวน ๑๘๐ คน และนักเรียนโครงงานวิทยาศาสตร์ ระดับประถมปลาย มัธยมต้น และมัธยมปลาย ได้มีโอกาสไปทัศนศึกษาดูงานที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ วิทยาเขตบางนา (เอแบค) การประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ฉลองครบรอบ ๓๓๖ ปี การศึกษาคาทอลิกแห่งประเทศไทย ณ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ วิทยาเขตบางนา กรุงเทพฯ
ในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ประจำปี 2545 ของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้
นักเรียนได้รับรางวัลชนะเลิศ โครงงานเรื่อง “CATECHIN IN GREENTEA ลดความอ้วน” จัดทำโดย
เด็กหญิงวณิชญา เจริญสุข, เด็กหญิงฐิติพร คงวัฒนาเศรษฐ และเด็กหญิงอารยา นุใหม่ ครูที่ปรึกษาคือ
ครูดวงเดือน อติพลังกูล
โรงเรียนพระหฤทัย เป็นสื่อกลางในการช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม โดยได้รับการสนับสนุนจาก
ผู้ปกครองในการบริจาคเงินและสิ่งของ ฝ่ายงานคำสอนและอภิบาลโรงเรียนพระหฤทัย เชียงใหม่ได้จัดกิจกรรม “จิตสัมพันธ์วันวิชาการ” ขึ้น เพื่อเผยแพร่และแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างคณะครูและนักเรียนจากโรงเรียนในเขตภาคเหนือ ม. อานนท์ เอี่ยมไธสง ได้รับโล่ครูผู้อุทิศตนด้านสิ่งแวดล้อม และอาสาสมัครผู้บำเพ็ญประโยชน์ และเป็นวิทยากรประจำฐาน ศูนย์สาธิตเทคโนโลยีประสิทธิภาพพลังงาน จังหวัดเชียงใหม่
ขบวนพาเหรดของโรงเรียนพระหฤทัย ได้รับถ้วยรางวัลชนะเลิศของทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี และเงินสดจำนวน ๒๐,๐๐๐ บาท (สองหมื่นบาทถ้วน) จากผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ในงานเชียงใหม่มาร์ดิกราส์ หรือเทศกาลรื่นเริงต้อนรับฤดูกาลท่องเที่ยว
สมาคมศิษย์เก่าพระหฤทัย เชียงใหม่ ได้จัดทอดผ้าป่าสามัคคีขึ้นเพื่อหารายได้สมทบทุนซื้ออุปกรณ์พัฒนาสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ และเป็นทุนการศึกษาแก่นักเรียนของโรงเรียน คณะลูกเสือจากประเทศสวีเดน จำนวน ๘๐ คน มาเยี่ยมชมโรงเรียนพระหฤทัย โดยมีคณะลูกเสือ – เนตรนารีไทย จากโรงเรียน พระหฤทัยให้การต้อนรับ ซิสเตอร์กรรณิการ์ เอี่ยมไธสง ร่วมชุมนุมลูกเสือไทย ครั้งที่ ๒๐ ในฐานะตัวแทนองค์กรศาสนา และตัวแทนลูกเสือไทยในการประสานงานของกิจกรรมศาสนา และสันติภาพ ณ หาดยาวอำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี
ในปีการศึกษา ๒๕๔๖ โรงเรียนขอเปิดสอนโดยใช้สื่อการสอนเป็นภาษาอังกฤษ หรือระบบการสอน ๒ ภาษา (BILINGUAL) ในระดับประถมศึกษาเริ่มจากช่วงชั้นที่ ๑ ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ จำนวน ๑ ห้องเรียน ซึ่งรับเฉพาะนักเรียนหญิงไม่เกิน ๓๐ คน
นางสาวศิริภรณ์ สุวรรณเนตร ได้รับทุน AFS เดินทางไปแลกเปลี่ยนการศึกษา และวัฒนธรรม ณ ประเทศญี่ปุ่น เป็นเวลา ๑ ปี ครูพระหฤทัยได้รับรางวัลการสอบมงคลชีวิตในโครงการ “ยอดครูคือยอดคน” โดยชมรมพุทธศาสตร์สากล ในอุปถัมภ์ของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ จากผู้เข้าสอบทั่วประเทศ ๔,๐๓๙,๖๗๓ คนครูที่ได้รับรางวัล จำนวน ๔ คน คือ ครูพัชรินทร์ บุญธรรม รางวัลชมเชยอันดับที่ ๒, ครูไกรศร หวังรักกลาง ครูที่ได้ผ่านการประเมินเป็นครูต้นแบบปฏิรูปการศึกษา รุ่นที่ ๑ ประจำปีการศึกษา ๒๕๔๖ จำนวน ๖ คนได้แก่ ครูจินตนา ทองเรือง ม.ภาณุพัฒน์ ชัยวร ครูดวงเดือน อติพลังกูล ครูอัมรา รักชาติ ครูจิราภรณ์ ขัติยะ ครูธนาพร สมปรารถนา
ปีการศึกษา ๒๕๔๖มีการพัฒนาอาคารสถานที่ ดังนี้ สร้างหลังคาชั่วคราวบริเวณหน้าเสาธง สร้างห้องออมทรัพย์และห้องเมล็ดพันธุ์แห่งความดี ปรับปรุงห้องการเงินและห้องสมุดกลาง ห้องจริยธรรม จัดสวนหย่อมอนุบาล จัดทำมุมล้านนา จัดบรรยากาศ และมุมธรรมชาติรอบ ๆ โรงเรียน สร้างห้องสารสนเทศ สร้างห้องออกแบบใต้อาคารพระแม่มารี และห้องเก็บอุปกรณ์เนตรนารี สร้างหลังคาสระน้ำ
ติดตั้งพัดลมไอน้ำบริเวณลานพระกุมาร สร้างห้อง English Program สร้าง Walk Way โรงเรียนได้ดำเนินการติดตั้งระบบอินเตอร์เน็ตภายในโรงเรียนขึ้นโดยใช้บริการอินเตอร์เน็ตการสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) ซึ่งมีห้องควบคุมอยู่ที่ห้องสารสนเทศ อาคารมิราแบล และได้เชื่อมโยงเครือข่ายไปตามห้องปฏิบัติการต่าง ๆ พร้อมทั้งจัดทำ Website ของโรงเรียนขึ้น คือ www.sch.ac.th.
วันที่ ๑๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บริษัทแน็ตแอนด์เนม จำกัด ร่วมกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด หนังสือ Tree News และโรงเรียนพระหฤทัย เชียงใหม่ จัดกิจกรรมต่อต้านยาเสพติด โดยมีวิทยากรจาก ปปส. มาให้ความรู้เกี่ยวกับยาเสพติด เรียนรู้วิธีป้องกันตนเองจากยาเสพติด
แผนกอนุบาลได้ดำเนินการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา ซึ่งเป็นหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช ๒๕๔๖ เพื่อเป็นแนวทางในการจัดประสบการณ์การเรียนรู้พัฒนาเด็กได้ถูกต้อง การอบรมเลี้ยงดูด้วยความรักให้เด็กมีพัฒนาการด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา เหมาะกับวัย ความสามารถ ความสนใจ และความแตกต่างระหว่างบุคคล
โรงเรียนพระหฤทัยได้รับรางวัลที่ ๑ การประกวดศักยภาพการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก ประจำปีการศึกษา ๒๕๔๖
อาจารย์ชัยฤทธิ์ วรรณประภา นายกสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนพระหฤทัย ได้มอบเงินจำนวน ๕๐,๐๐๐ บาท (ห้าหมื่นบาทถ้วน) แก่ตัวแทนนักเรียนชั้นมัธยมปีที่ ๖ เพื่อสนับสนุนการเข้าค่ายความรู้เตรียมความพร้อมก่อนการสอบคัดเลือกในระดับอุดมศึกษา ณ สำนักมิสซังเชียงใหม่ และได้มอบเงินจำนวน ๑๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งหมื่นบาทถ้วน) แก่เด็กหญิงวาสิตา มะโนคำ นักเรียนชั้นประถมปีที่ ๑/๖ เพื่อเป็นทุนการศึกษา เนื่องจากบิดาและมารดาได้ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต
อาจารย์วินัย วินัยสถาพร นายกสมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนพระหฤทัย มอบทุนสนับสนุนโครงการค่ายความรู้แก่คณะนักเรียนชั้นมัธยมปีที่ ๖ จำนวน ๒๐,๐๐๐ บาท (สองหมื่นบาทถ้วน) เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนสอบคัดเลือกเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา
ซิสเตอร์ประสานศรี วงศ์สวัสดิ์ พร้อมคณะซิสเตอร์ จำนวน ๑๔ ท่าน ได้เดินทางไปงานด้านการศึกษาและจิตตาภิบาลในโรงเรียน ณ ประเทศออสเตรเลีย โรงเรียนได้จัดประชุมคณะกรรมการอำนวยการโรงเรียนเพื่อสรุปงานและความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ในการพัฒนาโรงเรียน โรงเรียนพระหฤทัยและสมาคมโรงเรียนเอกชนจังหวัดเชียงใหม่ ได้จัดการเรียนรู้โครงการสองภาษา (Bilingual) ให้แก่ผู้บริหารและคณะครูของโรงเรียนต่าง ๆ ๒๖ โรงเรียน จำนวน ๖๗ คน ณ ห้องประชุมชั้น ๒ อาคารมิราแบล
วันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๖ โรงเรียนได้จัดให้มีพิธีสถาปนาคณะกรรมการบริหารสมาคมศิษย์เก่าพระหฤทัย เชียงใหม่ ณ โรงแรมเดอะปาร์ค เชียงใหม่
นางสาววิลาสินี สุวรรณกุล ซึ่งเป็นนักเรียนได้รับโล่รางวัลที่ ๑ ในการประกวดมารยาทไทย ระดับมัธยมปีที่ ๑ – ๖ และการประกวดคัดลายมือ ระดับประถมปีที่ ๑ – ๖ เด็กหญิงเบญพร วรปาณิ ได้รับโล่รางวัลที่ ๑ ตามโครงการงามอย่างไทย จากสำนักคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
กองเนตรนารีสามัญรุ่นใหญ่โรงเรียนพระหฤทัย เข้าร่วมประกวดระเบียบแถวและเดินสวนสนาม ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับอำเภอ และชนะเลิศระดับจังหวัดเชียงใหม่ ได้เป็นตัวแทนกองลูกเสือ – เนตรนารีจังหวัดเชียงใหม่ เข้าร่วมประกวดจัดระเบียบแถวลูกเสือ – เนตรนารี ระดับประเทศ ในวันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ ณ สนามกีฬาศุภชลาศัย สนามกีฬาแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร
วันที่ ๒๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ โรงเรียนได้จัดเลี้ยงขอบคุณพร้อมมอบโล่ประกาศเกียรติคุณแด่ คุณชัยฤทธิ์ วรรณประภา นายกสมาคมและคณะกรรมการสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนพระหฤทัย สมัยบริหาร ปี พ.ศ. ๒๕๔๕ – ๒๕๔๖ พร้อมทั้งเลี้ยงต้อนรับคุณพ่อวุฒิเลิศ แห่ล้อม ผู้แทนผู้รับใบอนุญาตโรงเรียนพระหฤทัย และคุณอาทิตย์ ชัยมงคล นายกสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนพระหฤทัยคนใหม่ และมอบทุนสนับสนุนการจัดทำวิทยานิพนธ์ให้กับคุณครูที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท จำนวน ๒ ทุน เป็นเงินจำนวน ๒๐,๐๐๐ บาท (สองหมื่นบาทถ้วน) ณ ห้องปารีส โรงแรมโนโวเทล สมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนพระหฤทัยได้มอบเงินจำนวน ๗,๐๐๐ บาท(เจ็ดพันบาทถ้วน) เพื่อสนับสนุนการเต้นแอโรบิคเพื่อสุขภาพของบุคลากรในโรงเรียน
เด็กหญิงปะการัง นุ้ยภิรมย์ นักเรียนชั้นมัธยมปีที่ ๓/๑ ได้รับรางวัลอันดับที่ ๑ รับถ้วยพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ณ ศูนย์ฝึกขี่ม้า กรมทหารราบที่ ๒๑ รักษาพระองค์ฯ จังหวัดชลบุรี
วันที่ ๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ ครูปราณี ตั้งใจดี ผู้ช่วยครูใหญ่โรงเรียนพระหฤทัยได้รับเครื่องหมายเชิดชูเกียรติ “คุรุสดุดี” ในงานวันครูโลก ณ หอประชุมคุรุสภา กรุงเทพมหานคร โดยได้รับการพิจารณาคัดเลือกให้เป็นครูผู้ปฏิบัติตนตามจรรยาบรรณ จนสามารถเป็นแบบอย่าง และเป็นที่เคารพยกย่องอย่างสูงของศิษย์ และบุคคลทั่วไป เหมาะสมเป็นปูชนียบุคคล และมีความเสียสละอุทิศตนเพื่อประโยชน์แก่วิชาชีพครู ตลอดระยะเวลาของการปฏิบัติงาน เพื่อรับเครื่องหมายเชิดชูเกียรติ “คุรุสดุดี” ประจำปีการศึกษา ๒๕๔๖ ในนามของสำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน จังหวัดเชียงใหม่
เด็กหญิงพิมพ์ชนก สุกัณทะ นักเรียนชั้นมัธยมปีที่ ๑/๒ ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ ๑ การแข่งขันกีฬาลีลาศ รุ่นจูเนียร์วัน ในรายการไทยแลนด์โอเพ่น ๒๐๐๔ แข่งขันระดับนานาชาติ ณ อินดอร์สเตเดียม หัวหมาก กรุงเทพมหานคร
ในการแข่งขันพัฒนาหุ่นยนต์และโครงงานวิทยาศาสตร์ ระดับประเทศ เมื่อวันที่ ๗ – ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ณ โรงเรียนเซนต์คาเบรียล กรุงเทพฯ โครงงานวิทยาศาสตร์เรื่อง Superio smashing spior meter ซึ่งเป็นโครงงานในระดับช่วงชั้นที่ ๓ หรือระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ได้รับรางวัลชนะเลิศถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี และเกียรติบัตรพร้อมเงินรางวัล ๕,๐๐๐ บาท (ห้าพันบาทถ้วน) จัดทำโดยเด็กหญิงวัชรวลี ยาอินตา , เด็กหญิงศศลักษณ์ มูลรินต๊ะ และเด็กหญิงศุภกานต์ แสงเรืองไร นักเรียนชั้นมัธยมปีที่ ๒/๖ โดยมีครูพัชรี ธิศรี เป็นครูที่ปรึกษา
วันที่ ๑๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ โรงเรียนพระหฤทัยได้รับการรับรองเป็นโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ ระดับทอง จากการตรวจประเมินของคณะกรรมการตรวจและประเมินโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายการศึกษา และสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข
วันที่ ๒๙ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ คณะยุวชนจากมหาวิทยาลัย Korea Handong Universityประเทศเกาหลี จำนวน ๑๕ คน โดยการนำของคณะสิ่งแวดล้อม Y.M.C.A เสาหิน เข้าศึกษาดูงานโครงการสิ่งแวดล้อมของโรงเรียนพระหฤทัย
ฝ่ายงานบุคลากรได้จัดให้มีการอบรมเชิงปฏิบัติการในเรื่อง “การประกันคุณภาพระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน” เมื่อวันที่ ๙ – ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ ณ ห้องประชุมชั้น ๘ ตึกพระแม่มารีโดยมีวิทยากร คือ อาจารย์อรุณี ชาญด้วยกิจ และคณะ
วันที่ ๑๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ ทางฝ่ายส่งเสริมสุขภาพ เทศบาลนครเชียงใหม่ ได้จัดการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง “โรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ” ขึ้น ณ ห้องเจียงจื้น โรงแรมเคอะปาร์คในงานนี้ได้มีพิธีมอบเกียรติบัตรให้กับทางโรงเรียนพระหฤทัย เพื่อแสดงว่าได้รับการรับรองมาตรฐานโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพระดับทอง โดย นางวิภาวัลย์ วรพุฒิพงค์ รองนายกเทศมนตรีเทศบาลนครเชียงใหม่เป็นประธานในพิธี และครูรัสริน มัคไพบูลย์ หัวหน้าแผนงานบริการสัมพันธ์ชุมชนเป็นตัวแทนของโรงเรียนรับมอบ
วันที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๘ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเป็นผู้แทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานเครื่องหมายเชิดชูเกียรติ และเงินช่วยเหลือแก่ครูอาวุโส ที่ได้ทำหน้าที่ครูจนถึงเกษียณอายุ ณ ศาลาดุสิตาลัย พระราชวังสวนจิตรลดา กรุงเทพมหานครซึ่งโรงเรียนพระหฤทัยมีครูอาวุโสได้รบพระราชทานเครื่องหมาย และประกาศนียบัตร จำนวน ๒ ท่านคือ ครูบุษยมาส สาริกบุตร และครูมุกดา เดชะชัย
สืบเนื่องจากวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๘ ได้เกิดเหตุเพลิงไหม้บ้านของเด็กหญิงฐาปนีอินทรสารี ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๒/๓ ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้บ้านเสียหายทั้งหลัง ทางโรงเรียนได้ดำเนินการช่วยเหลือในเบื้องต้น โดยมอบเงินธารน้ำใจจำนวน ๕,๐๐๐ บาท (ห้าพันบาทถ้วน) และจัดหาเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มและอุปกรณ์การเรียน โดยได้รับการสนับสนุนจากร้านไพบูลย์ และร้านหนังสือไซเรียง(อุดมผล) และทางโรงเรียนได้เชิญชวนผู้ปกครอง นักเรียน สมาคมผู้ปกครองและครู สมาคมศิษย์เก่า และมีผู้มีจิตศรัทธาได้ร่วมบริจาคทรัพย์สิ่งของเพื่อมอบเป็นน้ำใจแก่ คุณธเนศ อินทรวารี คุณวรินทร เสมอใจและเด็กหญิงฐาปนี อินทรวารี ได้มารับมอบเงินและสิ่งของที่โรงเรียน เมื่อวันที่ ๑๒ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๘
โรงเรียนพระหฤทัยได้รับความเสียหายจากวิกฤตการณ์น้ำท่วม เพราะอยู่ในบริเวณที่น้ำท่วมหนักที่สุดของเมืองเชียงใหม่ ทำให้เกิดความเสียหายต่อห้องประกอบการต่าง ๆ เช่น ห้องเรียนอนุบาลห้องประชาสัมพันธ์ ห้องไปรษณีย์ ห้องวารสาร ห้องจัดซื้อจัดจ้าง ห้องเครื่องเขียน ห้องวิชาการห้องโรเนียว ฯลฯ เป็นต้น
เจ้าหน้าที่ฝ่ายส่งเสริมสิ่งแวดล้อมเทศบาลนครเชียงใหม่ ได้มีการตรวจประเมินโรงอาหารเพื่อควบคุมคุณภาพ และให้ได้มาตรฐานของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ปรากฏว่าโรงอาหารของโรงเรียนได้รับป้ายโรงอาหารมาตรฐาน ระดับดีมาก ในปี พ.ศ. ๒๕๔๘ และจะหมดอายุในวันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๐
วันที่ ๒๕ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๔๘ นางอุไรวรรณ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เข้ารับฟังรายงานข้อมูลความเสียหายจากภัยน้ำท่วม โดยมีบาทหลวงวุฒิเลิศ แห่ล้อม อธิการโบสถ์และผู้แทนผู้รับใบอนุญาตโรงเรียนพระหฤทัย เป็นผู้กล่าวรายงานสรุปเหตุการณ์
โรงเรียนได้รับรางวัลที่ ๑ ในการประกวดศักยภาพโรงเรียน เพื่อการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมการเกิดโรคไข้เลือดออก ประจำปี ๒๕๔๘ จากสำนักงานสาธารณสุข เทศบาลนครเชียงใหม่โดยมีครูรัชนา มัคไพบูลย์ และครูศิริวรรณ ประวัง เป็นตัวแทนของโรงเรียนเข้ารับมอบเกียรติบัตรและเงินรางวัลจำนวน ๕,๐๐๐ บาท (ห้าพันบาทถ้วน) จากนายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๘ ณ พุทธสถาน จังหวัดเชียงใหม่
เด็กหญิงพัณณิตา แต้เจริญ นักเรียนชั้นประถมปีที่ ๖/๕ ได้รับรางวัลชนะเลิศจากการแข่งขัน“มะลิเทนนิสเยาวชน” เพื่อความชนะเลิศแห่งประเทศไทย ประจำปี ๒๕๔๗ ประเภทหญิงเดี่ยว รุ่นอายุไม่เกิน ๑๐ ปี และประเภทหญิงคู่ รุ่นอายุไม่เกิน ๑๐ ปี
เด็กหญิงนิชา ตันตระกูล ได้รับรางวัลชนะเลิศการแข่งขัน “Yamaha Thailand Music Festival” ณ หอประชุมศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย โดยได้รับรางวัลเกียรติบัตรพร้อมเงินรางวัลประเภท Guitar with vocal วันที่ ๒๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๙ ได้มีการรับมอบ “ลานวรรณคดี” ซึ่งเป็นเรือนไม้ทรงล้านนา โดย คุณวงกต จันทรมังกร นายกสมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนพระหฤทัย และพระสังฆราชสังวาลย์ ศุระศรางค์ เป็นผู้รับมอบ โดยมีวัตถุประสงค์ของการจัดสร้างเพื่อใช้เป็นสถานที่ประกอบกิจกรรมต่าง ๆของโรงเรียน
ปีการศึกษา ๒๕๔๙ ซิสเตอร์ดรุณี ศรีประมงค์ ได้มาดำรงตำแหน่งผู้จัดการและครูใหญ่ แทน ซิสเตอร์ประสานศรี วงศ์สวัสดิ์ ที่ได้ย้ายไปบริหารงานที่โรงเรียนแม่พระประจักษ์ จังหวัดสุพรรณบุรี ส่วนคณะคุณพ่อนั้นมี คุณพ่อวุฒิเลิศ แห่ล้อม เป็นเจ้าอาวาสวัดพระหฤทัย พร้อมตำแหน่งอุปสังฆราช และผู้แทนผู้รับใบอนุญาต มีผู้ช่วยงานสามท่านคือ คุณพ่ออนุพงศ์ ดำรงอุษาศีล คุณพ่อจูเซฟเป แบร์ตี้ คุณพ่อ Yutaka Akabae สมัยนี้มีการปรับเปลี่ยนเพื่อพัฒนาโรงเรียนเพิ่มเติมอีกหลายอย่าง ทั้งนี้ก็เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อผู้เรียนให้มากที่สุด อาทิ มีการขยายห้องเรียน ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔ จากเดิมปีการศึกษา ๒๕๔๙ เปิด ๕ ห้อง ปัจจุบันได้ขยายเป็น ๗ ห้องเรียน เพื่อรองรับจำนวนนักเรียนที่เพิ่มขึ้นทุกปี นั้นหมายงถึงการได้รับการยอมรับและความไว้วางใจ จากผู้ปกครอง ในเรื่องวิชาการ คุณธรรม และจริยธรรม ที่ประสงค์จะให้บุตรธิดา เข้าเรียนในโรงเรียนพระหฤทัย ในด้านการพัฒนาบุคลากรครูให้มีประสิทธิภาพในด้านการสอนนั้น ทางโรงเรียนเล็งเห็นถึงความสำคัญอย่างมาก สนับสนุนคณะครูที่สอนในโครงการ English Program ให้เดินทางไปทัศนศึกษาดูงานที่ประเทศ สิงคโปร์ อันเป็นการเพิ่มศักยภาพครู ในด้านการพัฒนาการสอนโดยนำความรู้ เทคนิค วิธีการที่ได้มาประยุกต์ใช้บูรณาการแบบองค์รวม และได้ส่งบุคลากรเข้าร่วมอบรม ที่จัดขึ้นโดยหน่วยงานของรัฐ และเอกชนมากมาย อันเป็นการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพครูให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ในปี พ.ศ ๒๕๔๙ ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดงานการชุมนุมงานแพร่ธรรมทวีปเอเชีย 2006 (Asian Mission Congress 2006) ของสหพันธ์สภาพระสังฆราชแห่งเอเชีย (FABC) ระหว่างวันที่ 19-22 ตุลาคม 2006โดยจัดขึ้นที่เชียงใหม่ โดยมีพระสงฆ์ จากต่างประเทศเข้าร่วมงาน 300 กว่าคน นับว่าเป็นเกียรติทางโรงเรียนจึงได้ส่งบุคลากรครูเข้าไปมีส่วนร่วมในงานที่ยิ่งใหญ่ครั้งนี้โดยทำหน้าที่แปล และต้อนรับบรรดาแขกผู้มีเกียรติที่มาร่วมงาน ในด้านอาคารสถานที่ก็มีการปรับเปลี่ยนให้มีรูปแบบการใช้งานที่ทันสมัยและสะดวกต่อการใช้ประโยชน์ต่างๆ อาทิเช่น ปรับปรุงโรงพละศึกษาโดยยกระดับหลังคาให้สูงขึ้นเพื่อปรับแต่งเป็นอาคารสองชั้น โดยด้านหน้าทำเป็นสนามบาสเกตบอล ด้านหลังเป็นห้องพักครูและชั้นสองเป็นห้องสมาคมศิษย์เก่าพระหฤทัย มีการปรับเปลี่ยนชุดพละศึกษาของนักเรียน เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพนักเรียนหญิง นอกจากนั้นยังได้เป็นคณะกรรมการบริหารการศึกษาของสังฆมลฑลเชียงใหม่ เป็นที่ปรึกษาสมาคมศิษย์เก่าพระหฤทัย และสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนพระหฤทัย
ดังนั้นตลอดระยะเวลา ๗๕ ปี ที่ผ่านไป โรงเรียนพระหฤทัยได้ผ่านพ้นเหตุการณ์สำคัญ ๆ ต่างๆ มากมาย คณะผู้บริหารทุกท่าน ต่างทุมเทแรงกายแรงใจในการปฏิบัติหน้าที่ทั้งงานแพร่ธรรมตามคำสั่งสอนของพระเยซูคริสต์ และงานบริหารการศึกษาด้วยจิตวิญญาณแห่งความรักและการรับใช้ จนทำให้โรงเรียนพระหฤทัยดำเนินกิจการด้วยความเจริญก้าวหน้าเสมอมา